วันเสาร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2551

!Hola Granada… Welcome to the Hills of Strangers







กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว อินเทรนด์มาได้พักใหญ่ สำหรับจุดหมายปลายทางในยุโรปตะวันตกเฉียงใต้ที่ชื่อว่า สเปน ประเทศที่ร่ำลือกันว่า เต็มไปด้วยหนุ่มหล่อและสาวสวยเซ็กซี่

ชื่อเมืองอย่าง มาดริด บาร์เซโลน่า หรือเซบีญ่า อาจเป็นที่คุ้นหูกันดี และเป็นสถานที่ที่ไม่น่าพลาดหากไปเยือนแดนดินถิ่นกระทิง (ดุ) แต่ถ้าถามว่าไปมาแล้วประทับใจเมืองไหนมากที่สุด ก็ต้องตอบเสียงดังๆ ว่าเป็น กรานาดา เมืองอุปราชของแคว้นอันดาลูเซีย ทางตอนใต้ของประเทศสเปน

เจ้าของโอ๊สตาล (hostal) ที่พักกล่าวอย่างอ่อนน้อมถ่อมตัวว่า กรานาดา เป็นเพียงเมืองเล็กๆ กระนั้นเมืองเล็กน่ารักเมืองนี้ก็เป็นเมืองเก่าแก่อันเป็นที่ตั้งของมรดกโลก อย่าง อะลัห์มบรา (Alhambra) พระราชวังสีแดง มรดกตกทอดจากเมื่อครั้งแขกมัวร์ปกครองดินแดนแห่งนี้ และเป็นอลังการงานสร้างที่ทำให้กรานาดามีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ในฐานะสถานที่ตั้งของมรดกโลกยูเนสโก ที่เข้ารอบสุดท้ายในการโหวต 7 สิ่งมหัศจรรย์แห่งโลกยุคใหม่ เมื่อปี 2007 ที่ผ่านมา

กรานาดา ผสมผสานหลากหลายวัฒนธรรมเอาไว้อย่างเห็นได้ชัดเจนยิ่งกว่าที่อื่นใดในสเปน ร่องรอยของแขกมัวร์ หรือวัฒนธรรมแบบมุสลิมอาจปรากฏชัดที่สุด ด้วยพระราชวังมรดกโลกอันเป็นประจักษ์หลักฐานอันยิ่งใหญ่ เช่นเดียวกับโบสถ์คริสต์ที่กลายเป็นศาสนาประจำชาติในกาลต่อมา ขณะที่ศาสนายิวซึ่งเคยครอบครองหลายเมืองในสเปนมาก่อนหน้าใครๆ ก็มิได้ถูกลบออกไปจากวิถีแห่งกรานาดาแต่อย่างใด

กรานาดาคล้ายเมืองเล็กในนิทานอันมีความเป็นมายาวนานนับศตวรรษ ในฐานะที่เคยเป็นศูนย์กลางการปกครองมาก่อน เมืองเล็กๆ แห่งนี้จึงมิได้ทิ้งอดีตเอาไว้เป็นเพียงเวลาผันผ่าน หรือเพียงอวดอ้างตราสัญลักษณ์รูปพญาอินทรีย์อันเก่าแก่ หรือเป็นที่ที่สมเด็จพระราชินีอิซาเบลลาผู้ยิ่งยงเลือกที่จะมาฝังพระวรกายเอาไว้เท่านั้น

หาก ณ วันนี้ ยังคงมีความสำคัญทางด้านการทหารและการปกครองของแคว้นอันดาลูเซีย อาจด้วยเพราะเป็นหน้าด่านสู่แอฟริกาเหนือนั่นเองที่ทำให้กรานาดาอยู่ในฐานะเมืองหลวงทางด้านการปกครองของแคว้น เนื่องเพราะเป็นประตูสู่แอฟริกาเหนือ ทั้งเป็นยุทธภูมิที่ดีเหนือช่องแคบยิบรอลตา ขณะที่เซบีญ่า เมืองหลวงอันดาลูเซียตัวจริง เป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ (เพราะอยู่ติดเมืองท่าอย่าง ม้าลากา (Malaga)

สำหรับชื่อกรานาดานั้น มีหลากหลายที่มา สันนิษฐานแรกเชื่อว่า มาจากภาษาสเปนที่แปลว่า ทับทิม ซึ่งผลไม้ชนิดนี้มีมากมายในท้องถิ่น และยังปรากฏให้เห็นเป็นหลักฐานในตราสัญลักษณ์ประจำเมืองด้วย

ขณะที่อีกข้อหนึ่งก็บอกว่า เรื่องทับทิมเป็นความเข้าใจไปเองและนำเข้ามาใส่ไว้ในตราสัญลักษณ์ประจำเมืองในตอนหลัง จริงๆ แล้ว ชื่อเมืองนี้น่าจะมาจากภาษาแขกอาหรับ ว่า การ์นาตาห์ (Gharnatah) ซึ่งหมายถึง “ขุนเขาของคนแปลกหน้า” ข้อสันนิษฐานนี้น่าเชื่อถือมากกว่า เพราะตั้งแต่ศตวรรษที่ 5 นั้น กรานาดาเป็นแดนดินถิ่นเดียว (และมีภูมิประเทศเป็นเชิงเขา) ที่นับถือศาสนาอิสลาม ขณะที่รอบข้างนั้นเป็นคริสเตียนกันหมด

ก่อนที่ฝ่ายคริสเตียนของสเปนจะยึดครองกรานาดาไว้ได้ ในสมัยของสมเด็จพระราชินีอิซาเบลลา ที่ 1 (Isabella I) พระองค์เดียวกับที่โปรดเกล้าฯ ให้ โคลัมบัส หรือที่ชาวสเปนเรียกว่า โกลอน (Colon) ให้ไปสำรวจหาทวีปเอเชีย (อินเดีย) แต่กลับไปพบดินแดนใหม่ อย่าง อเมริกานั่นเอง

ก่อนหน้านี้ กรานาดาเต็มไปด้วยคนพื้นเมืองที่เรียกตัวเองว่า อิลไบร์ (Ilbyr) ก่อนจะโดนชาวโรมันเข้ามายึดครอง ตั้งเป็นเมืองชื่ออิลลิบริส (Illibris) กระทั่งชาวอาหรับเข้ามาครอบครองได้สำเร็จ จึงเป็นกำเนิดของนาม กรานาดา ซึ่งรุ่งเรืองมากในสมัยของราชวงศ์นาซารี ในศตวรรษที่ 14 อันมีหลักฐานเป็นพระราชวังสีแดงซึ่งเป็นมรดกโลก อย่าง อะลัห์มบรา

การเดินทางไปกรานาดาไปได้หลายทาง หากเริ่มต้นจากมาดริดหรือบาร์เซโลนา เมืองใหญ่ 2 เมืองในสเปน ซึ่งมีเครื่องบินจากบ้านเราไปถึง ก็อาจจะต้องเดินทางไกลสักหน่อย ซึ่งสามารถทำได้ทั้งทางรถบัสและรถไฟ คนส่วนใหญ่นิยมเดินทางทางรถไฟมากกว่า เหตุเพราะเป็นขนส่งมวลชนที่ดีที่สุดในสเปน

ขอแนะนำการเดินทางโดยรถไฟกลางคืน หรือ Tren Hotel ที่จะประหยัดที่พักไปหนึ่งคืน แต่กระนั้นต้องวางแผนล่วงหน้า โดยเฉพาะคนไม่รู้ภาษาสเปนอาจมีปัญหาในการไปซื้อตั๋วที่สถานี (เข้าไปจอง Tren Hotel ก่อนที่ http://www.renfe.es/horarios/english/index.html) รถไฟที่นี่ จะใกล้จะไกลก็จะมีเลาจน์สำหรับให้คนไปดื่มไปกินกันให้สำราญใจ

ที่พัก ร้านอาหาร และแหล่งช็อปปิ้งในกรานาดาส่วนใหญ่จะตั้งอยู่แถวๆ ถนนกรานเบีย (Gran Via) หาถนนนี้เจอรับรองได้ว่าไม่มีหลงทางแน่ เพราะจะเป็นช่องทางที่เชื่อมไปยังถนนสายย่อยๆ หรือ กาล์เย่ (calle) ทั้งหลายในย่านกลางเมือง

ถนนกรานเบีย (ย่อมาจาก กรานเบีย เด โกลอน) ประดับเอาไว้อย่างเก๋ไก๋ด้วยโคมไฟสมัยใหม่ตลอดสาย ป้ายบอกชื่อถนนที่นี่ก็เก๋ไม่แพ้กัน โดยไม่มีเสาตั้งขึ้นมาให้รกหูรกตารกที่รกทาง ทว่าเป็นการสลักชื่อกาล์เย่ย่อยๆ ลงบนถนนเลย (สังเกตว่าที่เมืองอื่นๆ จะติดชื่อถนนไว้ตามมุมตึก) เพราะฉะนั้น หากจะมองหาถนนใดๆ นั้น ต้องก้มมองที่พื้นเอา และยากที่จะมองเห็นจากฝั่งตรงกันข้าม

กรานเบียถือเป็นย่านศูนย์กลาง นอกจากห้างดังของสเปนที่มีอยู่ทุกเมือง อย่าง El Corte Inglés (หมายถึง การแต่งตัวสไตล์คนอังกฤษ) ที่มักจะมีเสื้อผ้าแบรนด์เนมรวมตัวกันอยู่แล้ว ธุรกิจที่มีมากที่สุดที่นี่เห็นจะเป็นรองเท้า ที่หายใจสามสี่ทีก็เดินไปเจอร้านรองเท้าอีกแล้ว ซึ่งรูปแบบและราคาก็น่าช็อปเป็นที่สุด (ถ้ามีแรงแบกไหว)

ย่านใจกลางเมืองบริเวณนี้ ยังเป็นที่ตั้งของสถานที่ดื่มกิน อาจจะไม่เป็นอาหารของนักท่องเที่ยวจ๋า เป็นต้นว่า ทาปาส (tapas) ข้าวผัดปาเอลย่า (paella) แต่เป็นร้านอาหารที่ค่อนข้างเป็นกิจจะลักษณะหน่อย ตั้งแต่ร้านอาหารอิตาเลียน เมดิเตอร์เรเนียน อะไรประมาณนั้น

ผู้ประสงค์กินอยู่อย่างประหยัด มีอาหารง่ายๆ อย่าง พิซซาสไตล์สเปน (รูปทรงสี่เหลี่ยมขนาดพออิ่ม) ให้บริการตามร้านเบเกอรีและร้านกาแฟ ขณะที่ร้านขายอาหารแนวมุสลิมและยิว เช่น เคบับ ฟาราเฟล หรือไก่ย่างเป็นตัวๆ ก็มีให้เห็นตามตรอกซอกซอยที่แยกย่อยเข้าไปสู่ย่านช็อปของเก๋ๆ แนวยิปซี

ก่อนจะหนีไปไกลจากถนนกรานเบีย ต้องแวะไปเยี่ยมชมโบสถ์คริสต์ หรือ กาเตดรัล (Catedral) ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่แรกที่คริสเตียนขึ้นมาเรืองอำนาจ ที่นี่เองเป็นที่ฝังพระศพของพระราชินีอิซาเบลลา ที่ 1 รวมทั้ง ผู้สืบบัลลังก์สเปนต่อจากพระนาง อย่าง พระเจ้าฟิลิป ที่ 1 หรือผู้มีพระสมัญญานามว่า “ฟิลิป เดอะ แฮนด์ซัม” (Philip the Handsome) ต้องเข้าไปชมกันเองว่า จะหล่อขนาดไหน

ในกาเตดรัลยังมีพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาคริสต์จำนวนมากเอาไว้ให้คุ้มค่าเข้าชม 3.5 ยูโรอีกด้วย งานศิลปะย้อนไปถึงยุคที่ยังวาดสีน้ำมันลงบนแผ่นไม้กันเลยทีเดียว

ย่านกาเตดรัลยังมีแหล่งช็อปปิ้งมากมาย ส่วนใหญ่เป็นของที่ระลึกไว้ซื้อฝากเพื่อนฝูงที่ไม่ได้ร่วมทริปมาด้วย ตั้งแต่ เสื้อยืด โปสการ์ด แก้ว ธง กระเป๋าพิมพ์ลายชื่อเมืองกรานาดา ฯลฯ แต่ถ้าต้องการจะช็อปของเก๋แนวยิปซีและแขกมัวร์ต้องย้ายวิกไปเดินลัดเลาะถนนที่เป็นคู่ขนานกับกรานเบีย

บริเวณนี้เรียกว่า ย่านอัลไบซิน (Albaicin) เป็นย่านเก่าแก่ลักษณะเป็นเชิงเขา ที่สมัยก่อนนั้นเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวยิว บางคนเชื่อว่า อัลไบซิน แปลว่า ที่อยู่อาศัยของคนฝึกเหยี่ยว ทว่า นักประวัติศาสตร์ออกมาแย้งว่า น่าจะหมายถึง ย่านอาศัยของชาวบาเอซา (Baeza) มากกว่า

ย้อนไปในสมัยที่คริสเตียนเริ่มเรืองอำนาจ ชาวมัวร์ซึ่งนับถือศาสนาอิสลามถูกบีบให้ออกจากเมืองบาเอซา ใกล้ๆ กับเมืองฆาเอน (Jaen) มาอยู่ที่นี่ แล้วก็ก่อร่างสร้างเมือง ณ เชิงเขา ซึ่งสามารถมองเห็นพระราชวังสีแดง หรือ อะลัห์บรา บนยอดเขาเซียร์รา เนบาดา (Sierra Nevada) ได้อย่างชัดเจน

หลายๆ คนแปลกใจว่า เหตุใดในย่านมุสลิมจึงเต็มไปด้วยโบสถ์คริสต์ ไม่ว่าจะเป็น โบสถ์ซานมิเกล บาโฆ (San Miguel Bajo) หรือโบสถ์ซานนิโกลาส (San Nicolás) ฯลฯ นั่นคือการแสดงแสนยานุภาพเหนือผู้ที่ถูกปกครอง โดยมีเรื่องเล่าว่า โบสถ์เหล่านี้สร้างจากงบประมาณที่จริงๆ แล้วต้องนำไปสร้างมัสยิดของแขกมัวร์ด้วยซ้ำไป – แต่นั่นก็เป็นเรื่องราวของอดีตกาลนานมาแล้ว ต่างจากปัจจุบันที่การผสมผสานทางวัฒนธรรมได้กลายเป็นเสน่ห์ของย่านอัลไบซินไป

ใครมากรานาดา ก่อนที่จะไปเยี่ยมชมอัครสถาน อย่าง อะลัห์มบรา ต้องมา “พรีวิว” พระราชวังสีแดงแห่งราชวงศ์นาซารีที่ย่านนี้ก่อน ทางเดินที่เลี้ยวลดคดเคี้ยวเช่นเขาวงกต ไม่น่าอายที่จะหลง! เพราะจะเป็นการเดินชมบ้านเรือนที่งดงาม โดยเฉพาะช่วงก่อนฤดูร้อนเล็กน้อย ซึ่งอากาศยังไม่ร้อนจัด แต่เริ่มมีแสงแดดจ้า ฟ้าใสๆ ตัดกับบ้านเรือนสีขาวงดงามราวหมู่บ้านในนิทาน

เสื้อผ้า เครื่องประดับ กระเป๋า รองเท้า แบบยิปซีมีให้ช็อปแทบจะตลอดทางในย่านนี้ รวมทั้งจุดชมวิว (อะลัห์มบรา) อีก 2-3 แห่ง ที่จะมีร้านขายเครื่องดื่มเย็นๆ มีนักดนตรีอิสระมาแจมเพลงเปิดหมวกกันอย่างสุขสันต์หรรษา

คนที่วางแผนว่าจะไปเที่ยวอะลัห์มบราก่อน แล้วค่อยมาเดินทอดน่องแถวอัลไบซิน ควรคิดเสียใหม่ให้อัลไบซินเป็นพรีวิว 1 วัน ก่อนเยี่ยมชมพระราชวังเลื่องชื่อในวันถัดไปจะเหมาะกว่า เพราะว่าทั้ง 2 แห่งนั้นต้องอาศัยเวลาในการเดิน เดิน เดิน แล้วก็เดิน (ควรเตรียมรองเท้าที่สวมสบาย)

โดยเฉพาะพระราชวังบนขุนเขาของคนแปลกหน้า นามว่า เซียร์รา เนบาดา (Sierra Nevada) นั้น กว้างขวางตลอดขุนเขาเชียวล่ะ นอกจากอลังการงานสร้างของพระราชวังหลักของราชวงศ์นาซารี (Palace of Charles V) ที่เต็มไปด้วยลวดลายสลักเสลา ไปพร้อมๆ กับถ้อยคำมงคลจากพระคัมภีร์อัลกุระอ่านอย่างวิจิตรงดงามแล้ว ในบริเวณอันกว้างขวางนั้น ยังประกอบด้วยอาคารที่โชว์สถาปัตยกรรมการก่อสร้างแห่งยุค อย่าง เจเนราลลิเฟ (Generalife) ที่อยู่คู่กับสวนสวยแบบสเปน อันมีองค์ประกอบสำคัญเป็นน้ำพุงามกลางสวน ยังมี ป้อมปราการขนาดใหญ่ (Alcazaba) ที่จะมองเห็นวิวทิวทัศน์โดยรอบของเมืองเล็กในนิทานแห่งนี้ได้อย่างชัดเจน

หากมีแผนจะไปเยือนกรานาดา และต้องไม่พลาดไปเที่ยวอะลัห์มบรา ควรจองตั๋วล่วงหน้าผ่านทางอินเทอร์เน็ตไปให้เรียบร้อย (http://www.alhambra.org/eng/index.asp?secc=/inicio) ไปเช่นนั้นคุณอาจต้องไปยืนเข้าแถวรอคิวกันตั้งแต่เช้า และอาจเสียเวลาถึง 2 ชั่วโมงก็เป็นได้ ช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่น่าไปเยือน คือ ปลายๆ ของฤดูหนาวก่อนจะเข้าซัมเมอร์ แม้ตอนเช้าๆ จะหนาวเหน็บสักหน่อย แต่พอได้ออกกำลังเดินชมพระราชวังซึ่งกินเนื้อที่เกือบทั้งภูเขา ก็ทำให้หายหนาวเป็นปลิดทิ้ง

ในตั๋วเข้าเยี่ยมชม จะมีเวลากำกับเอาไว้ นั้นหมายถึงเวลาที่ต้องไปเข้าชมส่วนพระราชวังหลัก หรือ พาเลซ ออฟ ชาร์ลส์ ที่ 5 ที่ต้องไปให้ตรงเวลา ดังนั้นควรวางแผนในการชมส่วนอื่นๆ ให้ดี โดยเฉพาะการไปชมเจเนราลลิเฟกับสวนสเปน ซึ่งค่อนข้างต้องใช้เวลามากสักนิด

ตั๋วแบ่งเป็นช่วงเช้ากับช่วงค่ำ ถ้าไม่รีบไปไหนลองจองตั๋วช่วงค่ำ เพราะจะได้ไปนั่งชมน้ำพุเริงระบำบริเวณเจเนราลลิเฟ เป็นการปิดท้ายวันให้นอนหลับฝันดี

วันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

Dear Khun Loong Alcazaba...




ถึงคุณลุงแห่งโอ๊สตาล อัลคาซาบา ณ เมืองกรานาดา

ลุงได้สร้างความประทับจิตประทับใจให้พวกเราม๊าก-มาก แม้เราจะเจอกับนางยักษ์ที่อินฟอร์เมชั่นเคาน์เตอร์ของการ "เรนเฟ" (รถไฟ) แห่งประเทศสเปน เกือบจะรับประทานศีรษะมา เพราะดัน-ดั๊น-ดันไปถามทาง หากรู้ไม่ว่า เจ๊น่ะ ให้ข้อมูลได้แต่เรื่องเกี่ยวกับ "รถไคว" เท่านั้น อย่างอื่น "ชั้นจะไปรู้ได้ไง" (ยักไหล่ด้วย) แม้จะเป็นถนนใจกลางเมืองกรานาดาที่ชั้นอยู่่ ชั้นก็บ่อฮู้บ่หันก้าาาาาา

ก้าวแรกที่เราหาโอ๊สตาลของคุณลุงเจอ กรี๊ดสลบอันแรกคือ ที่นี่มีลิฟต์! ครับท่านผู้ชม ไม่ต้องแบกอย่างทุลักทุเลกันเช่นบาร์เซโลนาอีกแล้ว...

ไปถึงบ้านลุงราวๆ สักแปดโมงเช้า คุณลุงก็รีบจัดการทุกสิ่งอย่างเพื่อให้เราได้เข้าพัก ว่าแล้วก็ยังไม่ถึงเวลาที่แขกรายอื่นเช็คเอาต์ แต่คุณลุงก็ไม่ไล่ให้เรารีบไปไหน แต่กระวีกระวาดหาแผนทีเมืองกรานาดามากาง และพยายามสื่อสารกับเราด้วยภาษาอังกฤษที่ลุงคงไม่ถนัดเท่าไร

คุณลุงออกตัวว่า กรานาดาเป็นเมืองเล็กๆ เดินไม่กี่อึดใจก็ทั่วแล้ว แต่ถ้าจะไปย่านท่องเที่ยว โดยเฉพาะ อะลัห์มบรา นั่งรถไปก็ดีเพราะภูมิประเทศเป็นเชิงเขา

เสร็จแล้วลุงก็เริ่มกระวนกระวายดูเวลา ไอ้พวกเราก็คิดว่า สงสัยลุงคงจะรีบทำธุระปะปังอะไรของแก แต่ในที่สุดคุณลุงก็ว่า ถ้ารีบไปตอนนี้ก็อาจจะยังมีสิทธิ์ได้เข้าไปเที่ยวอะลัห์มบรา

ที่แท้ลุงก็กลัวเราอดเที่ยวน่ะเอง

ครั้นพอลุงรู้ว่า พวกเราจองตั๋วเข้าชมพระราชวังแขกมัวร์เอาไว้วันรุ่งขึ้น ลุงก็เปลี่ยนแผน แนะการทัวร์กรานาดาใน 1 วันให้เราทันที อูว ว้าว

ช่วงเช้าที่เรายังไม่ได้ห้องพัก เราก็เลยออกไปเดินเที่ยวใกล้ๆ ตามแผนลุง เริ่มจากเติมเต็มท้องด้วยพิซซาหน้าชีสสไตล์สเปน ในร้านนั่งสบายสไตล์ฮิปปี้ คนที่นี่น่าปวดเฮดจริงๆ ฟังเพลงฝรั่งอังกฤษ-อเมริกันอยู่แท้ๆ แต่ไม่ยอมสื่อสารภาษาอังกฤษ ด้านความกล้านั้นสู้คนไทยก็ไม่ได้ แม้ไม่รู้ความยังพูดได้ฉอดๆ แกไม่เข้าใจก็เรื่องของแก (ฮา)

อิ่มหนาสำราญ เราก็เริ่มเดินมาเที่ยวย่านถนนกรานเบีย ไปดูโบสถ์คริสต์สมัยศตวรรษที่ 14 กัน ราคาถู้ก-ถูก แค่ 3.5 ยูโรเอง แต่หะแรกก็เสียวๆ ว่าจะมีแค่ห้องๆ เดียวที่มีแท่นบูชาต่างๆ รวมทั้งพระศพของพระนางอิซาเบลลา และฟิลิป เดอะ แฮนด์ซั่มหรือเปล่า

ที่ไหนได้ พอทางเดินออก กลับแสดงงานศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาเอาไว้มากมาย

เดินชมนั่นชมนี่อยู่สักพัก ใกล้เที่ยงเต็มที เราเริ่มคันเนื้อคันตัว (เพราะไม่ได้อาบน้ำตอนกลางคืนจนบัดนี้) และอยากมาม่า! (ไม่ได้หิว แต่อยาก เข้าใจป่ะ) ว่าแล้วเราก็เดินกลับไปโอ๊สตาลก่อนจะเที่ยวตามแผนที่ลุงวาดไว้ (บนแผนที่ที่ให้มาน่ะแหละ) กันต่อ

นอกจากลุงจะให้ยืมปลั๊กต่อฟรีๆ แล้ว หลังจากเราพยายามเช็กน้ำร้อนที่มไ่ม่ยอมร้อน ทำให้เราเกือบจะเฟลเรื่อง(อยาก) มาม่าไปแล้ว เราก็ใจดีสู้เสือ (นี่ขนาดลุงเขาไม่ดุสักหน่อย) จริงๆ แล้วเรียกว่าหน้าด้านไปขอน้ำร้อน โดยนำถ้วยสตาร์บักส์ที่เก็บเอามาจากเมืองที่แล้วไปใส่

ลุงทนเห็นความอเน็จอนาจไม่ได้ ก็เลยต้มน้ำมาให้เสีย 1 เหยือกโตๆ สงสัยมันจะเอามาต้มกาแฟกัน

ที่ไหนได้ ผลออกมาเป็นสตาร์บักส์มาม่า ซู้ด อาหย่อยมากๆ

นี่ขนาดไม่ได้หิวนะ อิอิ

(to be continued...)

วันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2551

เดินทางลงใต้ไปกรานาดา





ในที่สุดก็ถึงกาลลาจากบาร์เซโลนาซ้ากที ขอจรลีไปที่เมืองอื่นๆ บ้างเถอะ แม้จะมีอลังการงานสร้างอีกหลายแห่งของพี่เกาดี้ที่ยังมิได้ไปเยือน (เอาไว้โอกาสหน้าแล้วกันนะ เมื่อไหร่ก็ม่ายรุ)

พวกเราวางแผนเดินทางลงใต้ ไปกรานาดาโดยทางรถไฟที่เรียกว่า เทรนโฮเตล ซึ่งปรากฏว่าต่างจากภาพที่เราจินตนาการเอาไว้ม้าก มาก ด้วยความที่ค่าโดยสารเรนเฟแพ้ง แพง เราก็เลยจิตนาการเอาไว้ซะหรูหราว่า คงจะต้องเป็นเตียงนอนให้เราเหยียดยืดได้สบายอุราแน่ๆ ที่ไหนได้มันก็ไม่ต่างจากรถไฟสปรินเตอร์สักเท่าไร เคราะห์ดีเป็นสาวเอเชียขาสั้นกันทั้ง 2 ราย ก็เลยนั่งสบายๆ ลงใต้จากบาร์เซโลนาสู่กรานาดา

ที่น่าทรมานยิ่งกว่าการนั่งรถไฟตลอดคืนจนเมื่อยตูด ก็คือ สาวฝรั่งและสาวสเปนที่เมาท์ไม่หยุด ตั้งแต่เวลา 3 ทุ่มที่เราขึ้นรถไฟ กระทั่งเรื่อยเลยไป หลับแล้ว กรนแล้ว รถจอดสถานีใหญ่อีกทีที่บาเลนเซีย เวลาประมาณตี 2 she เพิ่งเดินขึ้นรถไฟมาสดๆ พร้อมโทรศัพท์มือถือประดับที่หู and then เมาท์ๆๆๆๆๆๆ โห... ตี 2 แล้ว ปลายสายมันยังไม่นอนอีกรึนั่น

ถึงยังไงก็ยังหลับลง อิอิ ตื่นมาอีกทีตอนเช้าตรู่ ทิวทัศน์ก่อนเข้าสู่เมืองกรานาดาสวยมากๆ เป็นเนินเขาที่ประดับด้วยทุ่งหญ้าเขียวเป็นหย่อมๆ แถมมีดอกหญ้าสีเหลืองเล็กๆ ปกคลุมอยู่ งดงามมากๆ (มัวแต่เมาขี้ตาเลยไม่ได้ถ่ายรูป) 555

และแล้วเราก็มาถึง กรานาดา อันเป็นที่ตั้งของ อะลัห์มบรา (Alhambra) พระราชวังแขกมัวร์สีแดง ที่ตอนนี้อยู่ในฐานะมรดกโลกของยูเนสโก (ใกล้จะเป็นญาติกับปราสาทพระวิหารรอมร่อ อิอิ)

ด้วยความที่โอ๊สตาลที่พักไม่ได้บอกอะไรไว้เลย นอกจากบอกว่า อยู่กลางเมือง ยังไงก็หาเจอ ลงโรงแรมรถไฟมาปุ๊บ เราก็แล่นเข้าไปยังเคาน์เตอร์ที่เขียนมา informacion ปั๊บ เพื่อถามทาง ยัยป้าหน้าเคาน์เตอร์ทำท่ายักไหล่หาใส่ใจในคนตัวเหลือง แล้วพ่นภาษาสเปนใส่ ฟังไม่รู้เรื่องแต่พอจะเดาออกว่า "ตูจะไปรู้ได้ไง ชั้นให้ข้อมูลเกี่ยวกับรถไฟเท่านั้นย่ะ!" เซ็ง!

จำได้ว่า ไปถึงเวลาเช้าตรู่ ราวๆ 8 โมงเช้า ชาวสเปนน่ะหรือจะแหกขี้ตาตื่นขึ้นมาไหว เดินคลำทางไปมา เจอคุณลุงท่าทางใจดีเดินมาซื้อหนังสือพิมพ์ยามเช้า เพื่อนสาวผู้รู้ภาษาสเปนนิดหน่อยต้องควักความรู้ออกมาใช้ล่ะคราวนี้ ขณะดิฉันผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ฟังอยู่ข้างๆ กาเย่ๆๆๆๆ -- เอ มันเกี่ยวอะไรกับ cahier (กาเย่ร์) ภาษาฝร่ังเศสที่แปลว่า สมุดจด (ข่าว) เล่านี่

อ้อ เขาหมายถึง กาเย่ (calle) ภาษาสเปนที่แปลว่าถนนตะหากเล่า

โอวววว์ คอมมิวนิเคชั่นเบรกดาวน์อีกแล้ว

(to be continued)

ตอนหน้าอย่าพลาดเรื่องคุณลุงรูปหล่อใจดี ประจำโอ๊สตาล อัลคาซาบาร์

วันพุธที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2551

เที่ยวไป กินไป (ไม่ได้บ่น) ในสเปน




ชูชกทัวร์เริ่มต้นอีกครั้ง... แทนที่จะศึกษาว่า เดินทางไปประเทศนี้ควรจะไปเที่ยวที่ไหนบ้าง สิ่งแรกที่ตั้งคำถามเอาไว้คือ จะไปกินอะไรดีหนอ?

อาหารสเปน บ้านๆที่ใครๆ บอกว่า ไปแล้วต้องกิน คือ ปาเอลย่า ทาปาส ซางเกรีย ... แน่นอน ทั้งหมดคือเป้าหมายของเราในคราวนี้

เท่าที่เคยได้ยินมา อาหารสเปนคือหนึ่งในกลุ่มอาหารเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเน้นหนักไปที่การบริโภคน้ำมันมะกอก และอาหารทะเลเป็นหลัก

**ปาเอลย่า ข้าวผัดสเปน

หลายคนที่เคยไปสเปนมาแล้ว บอกว่า ข้าวผัดสเปนไม่อร่อย แถมมันมากๆ ของอย่างนี้ พูดแต่ปากใครจะไปเชื่อ ต้องลองเอง...

บนท้องถนนในย่านท่องเที่ยว ภาพโฆษณาเชิญชวนหม่ำ ปาเอลย่า (paella) ติดอยู่ตามหน้าร้านอาหารแทบทุกแห่ง สีสันหน้าตาของเจ้าข้าวผัดสเปนนี้ ยั่วน้ำลายไม่ใช่เล่น กุ้งเป็นกุ้ง หอยเป็นหอย น่องไก่เป็นน่องๆ หมายถึงชิ้นเบ้งๆ ทั้งนั้น

ที่น่าตื่นเต้นก็คือ อาหารที่สั่งมา หน้าตาเหมือนภาพในโฆษณาเพะ !

ปาเอลย่า เป็นอาหารพื้นเมืองของชาวบาเลนเซีย ในภาษาสเปนหมายถึง กระทะผัด มิน่าเล่า อาหารจานนี้จึงเสิร์ฟมาในกระทะร้อน

ข้าวผัดสเปนมักจะมีส่วนผสมครบถ้วนทั้งผักทั้งเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะ เนื้อสัตว์ทะเล เป็นที่นิยมมาก โดยส่วนผสม 3 อย่างที่หากขาดไปจะเรียกปาเอลย่าไม่ได้ คือ ข้าว หญ้าฝรั่น (แซฟฟรอน) และน้ำมันมะกอก ทำให้บางครั้งก็เรียกอาหารจานนี้ว่า ข้าวผัดแซฟฟรอน

สำหรับต้นกำเนิดของเจ้าข้าวปาเอลย่ามีหลายที่มา บ้างว่า เป็นมรดกตกทอดตั้งแต่ครั้งแขกมัวร์มีอำนาจในสเปน อีกแหล่งหนึ่งก็บอกว่า จานนี้น่าจะเดินทางมาจากทางใต้ของฝรั่งเศส ส่วนอีกกระแส คือ ปาเอลย่า ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากประเทศกรีซนู่น

จะอย่างไรก็ตาม ปาเอลย่า หมายถึง ข้าวผัดที่ปรุงขึ้นในกระทะปาเอลย่า เริ่มด้วยการอุ่นกระทะร้อน ใส่น้ำมันมะกอกเล็กน้อย โยนเนื้อสัตว์ ตามด้วยผัก พอผัดจนใกล้สุกแล้วเติมน้ำ พอใส่ข้าวลงไปรอให้สุก โดยมีขั้นตอนสำคัญคือการเพิ่มกลิ่นรสด้วยหญ้าฝรั่นและซอสโซฟริโต (อันเป็นส่วนผสมกระเทียม หอม พริกไทย และมะเขือเทศ) เสิร์ฟพร้อมมะนาวซีกกันเลี่ยน

ปาเอลย่ามีมากมายหลายหน้าตาให้เลือก ตั้งแต่กุ้ง หอย (แมลงภู่) ทะเลรวม น่องไก่ และหมึกดำ

ใจจริงแล้วอยากรับประทานปาเอลย่าหมึกดำ แต่เนื่องจากหน้าตาอาจจะไม่งดงามยามถ่ายรูป จึงสั่งปาเอลย่าน่องไก่ เรื่องกินนี่รสนิยมใครรสนิยมมันจริงๆ ใครว่า ไม่อร่อย และมันแผล็บ จริงๆ แล้ว ก็พอใช้ได้นะ ยิ่งจินตนาการว่ากินแบบพี่ไทยด้วยการซอยพริกขี้หนูใส่ลงไปได้ จะเพอร์เฟ็กต์ ได้รสเค็มๆ มันๆ (เผ็ดๆ)

ที่มันๆ นั้นเป็นน้ำมันมะกอก ซึ่งจัดอยู่ใน ไขมันดีเพราะฉะนั้นจึงโอเคที่จะกิน (นะ)

**ตะลอนชิมทาปาส

ทาปาส (Tapas) เป็นอาหารเรียกน้ำย่อยที่มีทั้งแบบร้อนและเย็น สร้างสรรค์ได้หลายรูปแบบ

ทาปาสมีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ถึงจะโด่งดังในฐานะเป็นอาหารเรียกน้ำย่อย แต่บางครั้งก็ปรุงแบบให้กินจริงจัง กินถึงอิ่ม

ทาปาส มีสัญชาติสเปนตั้งแต่อ้อนแต่ออก มาจากคำว่า ทาปา (Tapa) เนื่องจากมักไม่ปรุงชนิดเดียว จึงต้องเติม s เข้าไปตลอดเวลา ในภาษาสเปนหมายถึง ปกปิด คลุมเอาไว้ ลักษณะของอาหารจานนี้ จึงมักนำเอาเนื้อสัตว์ (มีทั้งแฮม ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ชีส มะกอก พริกยักษ์ ฯลฯ มาคลุมเอาไว้ด้านบนแผ่นขนมปัง ตามแต่เชฟจะรังสรรค์

จานเรียกน้ำย่อยนี้มีมาแต่สมัยกษัตริย์อัลฟอนโซ เดอะ ไวส์ (ที่ 12) ผู้ทรงฟื้นจากอาการป่วยด้วยการเสวยไวน์ พร้อมพระกระยาหารจานเล็กๆ หลังจากนั้น พระองค์ก็รับสั่งให้เสิร์ฟพระราชอาคันตุกะด้วยไวน์และทาปาสทุกครั้ง ซึ่งนับเป็นเมนูที่คงกระพันมากว่า 700 ปีแล้ว แม้สเปนจะถูกรุกรานและยึดครองโดยโรมัน แขกมัวร์ ชาวยิว หรือจอมเผด็จการฟาสซิสต์ ฯลฯ แต่ทาปาสยังคงอยู่อมตะนิรันดร์

คนสเปนนอกดึกตื่นสาย ที่นั่นมักเสิร์ฟอาหารค่ำกันดึกมากๆ เริ่มตั้งแต่ 3 ทุ่ม ไปจนเกือบเที่ยงคืน ระหว่างนั้น พระเอกของงานได้แก่ ทาปาส ที่คนจะเริ่มกินกันตั้งแต่บ่าย 2 ถึง 4 โมงเย็น (เรียกว่าช่วงเฟียสตา ที่ร้านค้า พิพิธภัณฑ์ กิจการต่างๆ ปิดเงียบเพื่อพักผ่อน นอน และกิน)

วัฒนธรรมทาปาสของสเปนไม่ต่างจากอารมณ์ บาร์ฮอปปิ้งนั่นคือ เข้าร้านนั้น ออกร้านนี้ ไปร้านนู้น เน้นเรื่องพบปะ พูดคุย เมาท์แตกกันมากกว่ามุ่งมั่นจะไปชิมอาหารอร่อย

อย่างนั้นหละ... จึงเรียกว่า ทาปาสทัวร์แบบสเปนแท้

**จิบซางเกรีย เชียร์ฟลาเมงโก

ฝากชิมซางเกรียเผื่อด้วยนะนักดื่มแถวๆ นี้สำทับหนักแน่นก่อนเดินทาง แต่กว่าจะหาสถานที่เหมาะๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ได้ ก็นึกว่าจะอดชิมเสียแล้ว

อธิบายง่ายๆ ซางเกรีย (Sangria) ก็คือพันช์ไวน์ ซึ่งมีเสิร์ฟในสเปนและโปรตุเกส

นาม ซางเกรีย แผงมาจากคำว่า ซางเกร (sangre) ในภาษาสเปน และซางเก (sangue) ในภาษาโปรตุเกส แปลว่า เลือด ในหนึ่งแก้ว ประกอบด้วย ไวน์แดง ผลไม้ชิ้นเล็กๆ สิ่งให้ความหวาน (มักใช้ น้ำส้มหรือน้ำผึ้ง) เติมบรั่นดีหรือเหล้าอย่างอื่นเล็กน้อย ตบท้ายด้วยโซดา

ด้วยความที่ไม่มีการกำหนดตายตัวว่า จะต้องใช้ผลไม้ชนิดไหน เติมเหล้าชนิดใด จึงกลายเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของซางเกรีย ที่แต่ละแห่งจะมีรสชาติแตกต่าง ควรจะได้ลิ้มลองหลายๆ แห่ง เพื่อเปรียบเทียบว่า ใครจะปรุงพันช์ไวน์ได้เจ๋งกว่ากัน

แม้ซางเกรียจะมีรากว่าจากคำว่า เลือด ซึ่งมักอ้างอิงไปถึงสีแดงและไวน์แดงด้วย แต่บางครั้งคนปรุงก็นึกสนุกในการลองเลือกไวน์ขาวมาใช้แทน โดยเรียกว่า ซางเกรีย บลันกา (Sangria Blanca) หรือซางเกรียขาวนั่นเอง

ในการผสมซางเกรีย มักเริ่มจากการเตรียมผลไม้ที่จะใช้เป็นส่วนผสมก่อน โดยหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ค่อยเติมส่วนผสมทุกสิ่งอย่างลงไป ยกเว้นน้ำแข็งกับโซดา นำส่วนผสมนั้นไปแช่ตู้เย็นทิ้งเอาไว้ เพื่อให้รสชาติแต่ละอย่างผสมกลมกลืนกันได้ดียิ่งขึ้น กระทั่งจะเสิร์ฟค่อยเติมน้ำแข็งและโซดาลงไป

ซางเกรียเหมาะมากจะเสิร์ฟในวันร้อนๆ เช่นเดียวกับพันช์ทั่วไปนั่นแหละ โดยเฉพาะเมืองทางตอนใต้ของสเปน อย่าง แคว้นอันดาลูเซีย

แสดงว่า เราเลือกสถานที่เหมาะสมถูกกติกา ที่ไปดื่มไป ชมเชียร์ฟลาเมงโกไป ในเมืองหลวงของอันดาลูกเซีย อย่าง เซบีญ่า พอดิบพอดี

สเปนยังมีอาหารอร่อยๆ สำหรับการชูชกทัวร์อีกมาก ไม่ว่าจะเป็น พิซซ่ารูปร่างสี่เหลี่ยมขนาดย่อม ซึ่งนิยมเสิร์ฟเป็นอาหารเช้า ช็อกโกแลตดีไซน์น่ารักน่าหม่ำมีขายในตลาดสด และคอเบียร์ไม่น่าพลาด เบียร์อะลัมบรา (ชื่อเดียวกับมรดกโลกในกรานาดา) ที่ผลิตกันมาเกือบร้อยปี รสชาติไม่แพ้เบียร์เยอรมัน ฯลฯ

ขึ้นอยู่กับว่า พื้นที่ในกระเพาะของคุณมีพอหรือเปล่า?

วันเสาร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

Barcelona In Pictures






Museo Picasso ก่อนอำลาบาร์เซโลน่า...




เฮ้อ... ตัดสินใจแทบไม่ถูก ด้วยเวลาที่เหลือเพียงน้อยนิดว่า จะไปหอศิลป์ปิกัสโซ Museo Picasso หรือว่าพิพิธภัณฑ์ช็อกโกแลต Museo Xocolat ดี ที่หลังนั้นแสนจะน่าสนใจ แต่ที่แรกก็ไม่น่าพลาดด้วยประการทั้งปวง ในที่สุดก็ต้องเลือก Museo Picasso หรือพิพิธภัณฑ์หอศิลป์ปิกัสโซ เป็นสถานที่ปิดท้ายรายการการทัวร์ทุลักทุเล กระหืดกระหอบ ขาแข็ง ฯลฯ ณ บาร์เซโลน่า

Museo Picasso หายากโคตรๆ อยู่ในตรอกซอยน้อยนิด ต้องถามทางอยู่เนืองๆ ป้ายถนนที่นี่ก็มีประโยชน์ซะด้วยสิ (ประชด ครับ ประชด) ที่สำคัญอยากจะเตือนพ่อแม่พี่น้องที่ต้องการไปทัวร์บาร์เซโลน่า รวมทั้งอีกหลายแห่งในสเปนด้วย (โดยเฉพาะกรานาดาที่เรากำลังจะไปเยือนต่อ) ว่า เวลาเดินอย่าทำเป็นสวยเริ่ดเชิดหยิ่งไปล่ะ ไม่เช่นนั้นจะเกิดเหตุการณ์ "shit happen"

ไม่ได้สบถ แต่เป็น shit จริงๆ ครับท่านผู้ชม shit ซึ่งออกมาจากก้นของสุนัขหลากหลายสายพันธุ์ ที่ชาวบาร์เซโลน่าและชาวสเปนทั้งหลายนิยมเลี้ยงกันเป็นว่าเล่น แต่ไม่รู้จักมีกฎหมายออกมาบังคับให้คนเก็บ shit ของหมาตัวเองหรือไงก็ไม่รู้ เฮ้อ อย่าให้บรรยายเล้ย มันจะเหม็น

มาเข้าเรื่อง Museo Picasso ดีกว่า พิพิธภัณฑ์นี้อยู่ในอาคารเก่าแก่ สวยงามทีเดียว ค่าเข้าที่แจ้งในโลนลี่พลาเน็ตว่า 6 ยูโร แต่พอไปถึงจุดเกิดเหตุ ขึ้นเป็น 9.5 ยูโรไปแว้วววว แถมมิให้ถ่ายภาพ กับเก็บตังส์ค่าออดิโอทัวร์ต่างหากด้วย พวกเราก็เลยถอดแจ็กเก็ต เดินตัวปลิว ชมภาพเขียนฝีมือ ปาโบล ปิกัสโซ ยุคนั้นยุคนี้กันอย่างสนุกสนาน เพราะไม่ต้อง วอรี่ กับการถ่ายภาพ (อิอิ)

หลังชื่นชมภาพเขียนจำนวนมาก เราได้ข้อสรุปกันว่า เหตุที่พี่แกกลายเป็นผู้นำของคิวบิสม์นั้น เป็นเพราะว่าแกคงขี้เกียจวาดภาพสวยๆ ฝีมือเนียนๆ เนี้ยบๆ แล้ว แต่อยากวาดการ์ตูนมากกว่า

จะว่าไป 9.5 ยูโร ก็คุ้มแสนคุ้ม โดยเฉพาะห้องแสดงภาพที่พี่แกล้อเลียน เอ๊ย... ได้แรงบันดาลใจจาก Las Meninas ภาพดังของ ดิเอโก เบลาซเกซ (Diego Velázquez) ศิลปินร่วมชาติ แล้ววาด Las Meninas ในเวอร์ชันของตัวเอง ทั้งเจ๋งและขำ (เดี๋ยวจะโพสต์รูปไว้ให้ดู สำหรับคนที่ไม่เคยเห็น Las Meninas เวอร์ชั่น ปิกัสโซ)

เราปิดท้ายบาร์เซโลน่าด้วยการกลับไปเดินเล่นที่ถนนหลัก อย่าง รัมบลาส จนเมื่อย teen เดินไม่ไหว จึงลงเมโทรไปนั่งแกร่วรอรถไฟ tren hotel ลงใต้ไปกรานาดา

ระหว่างรอเรนเฟออกปู๊นๆ เราไม่รู้ทำไร จะกินข้าวก็แพง และไม่หิว ลองซื้อน้ำมาดื่มแล้วกัน ปรากฏว่า ไดเอตโค้กและน้ำส้มขวดละร้อยฝ่าบาท รู้งี้กินน้ำก๊อกไปอย่างเดิมนั่นแหละ

เย้... พรุ่งนี้เราจะตื่นขึ้นมาที่เมืองใหม่แล้ว

(to be continued)

ไปดื๋ยๆ ที่ คาซาบัตโย






ดื๋ยๆ บรืยๆ เหวอๆ หลอนเล็กน้อย คือนิยามของข้าพเจ้าเมื่อได้ไปเยือน คาซาบัตโย (Casa Batlló) ทาวน์เฮาส์สุดเริ่ด ฝีมือการโมดิฟายด์ของคุณพี่เกาดี้ (อีกแล้วครับท่าน)

อุแม่เจ้า บ้านหลังนี้ไม่มีเส้นตรง ทุกอย่างที่ได้รับการออกแบบล้วนได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ และในธรรมชาติหามีเส้นตรงไม่! ว้าว... นั่นคือหลักในการออกแบบตกแต่งคาซา หรือบ้านของครอบครัวบัตโย่ของพี่เกาดี้เขา

ได้ข่าวว่า คาซา บัตโย เปิดให้เข้าชมประมาณ 10 โมงเช้า รีบไปเลยนะแต่เช้าถ้าอยากชมน่ะ เพราะว่า แต่ละรอบดูเหมือนจะจำกัดจำนวนผู้ชม ขนาดจำกัดแล้วคนยังยั้วเยี้ยเต็มไปหมด เริ่มตั้งแต่การตั้งแถวยาวเหยียดเพื่อรอคอยควักกระเป๋ากันตั้ง 16 ยูโร สำหรับเข้าไปชมความมหัศจรรย์ในการออกแบบสุดอลังการ

ดีที่ 16 ยูโรนี้ มีให้ทั้งโบรชัวร์แผ่นหนา แล้วก็อุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์บรรจุคำบรรยายส่วนตัว (เลือกได้หลายภาษา แน่นอน... ไม่มีภาษาไทย อิอิ) พอเข้าไปแต่ละคนก็เลยอยู่ในโลกส่วนตัว ตาดู-หูฟัง (คำบรรยายจากเครื่อง) ดูๆ ไปก็เป็นภาพที่โคตรตลก แต่จะไม่ฟังก็ไม่ได้ คึๆๆๆ

นอกจากการออกแบบตกแต่งภายในแบบไร้เส้นตรง ที่แสดงความเป็นอาร์ตนูโวสุดๆ แล้ว สิ่งหนึ่งที่ชอบมากที่สุดในคาซา บัตโย คือ ที่พี่เกาดี้ออกแบบกระจกให้มองผ่านไปแล้วเหมือนอยู่ในน้ำ เริ่ดมากทีเดียว แถมอาคารยังทาสีฟ้า ยิ่งส่งให้เรารู้สึกเหมือนอยู่ในโลกใต้บาดาลจริงๆ

บ้านหลังนี้สรา้งมาตั้งกะศตวรรษที่ 19 นู่น (ปี 1877) แต่พี่เกาดี้มาโมดิฟายด์ ตกแต่งภายในร่วมกับเพื่อน อย่าง โฆเซป มาเรีย ฆูฆอล (ชื่ออ่านยากจริง) ราวๆ ปี 1905–1907 ในช่วงรุ่งโรจน์ของแกนั่นแหละ ถึงทุกวันนี้ก็ยังเป็นที่อยู่อาศัยจริงๆ อยู่เลยนะ น่าริษยาคนที่ได้อยู่จริงๆ แต่คงจะแพงหูฉี่เหมือนกันล่ะ

บนดาดฟ้าตึก พี่เกาดี้ไม่ลืมที่จะสร้า้งสรรค์ประติมากรรมรูปทรงแปลกๆ เอาไว้ (เหมือนฉี่รดแสดงความเป็นตัวตนเอาไว้ -- โห เปรียบซะเสีย) ทั้งโมเสกหลากสี สัตว์ประหลาดที่เรียกว่าจิ้งเหลน เอ๊ย dragon แล้วก็ยอดแหลมๆ ที่พวยพุ่งขึ้นฟ้า เปรียบประหนึ่งดาบของเซนต์จอร์จ (นักบุญผู้อารักษ์เมืองบาร์เซโลน่า)

บนดาดฟ้ายังมีห้องที่สามารถสดับรับฟังเสียงน้ำ ดูเหมือนวิทยาการสมัยใหม่ แต่จริงๆ แล้วมีมาตั้งแต่ยุคนู้นเลย

นั่งอยู่ในห้องฟังเสียงน้ำนานๆ จะเงียบสงบมาก ต่างจากอาการยั้วเยี้ยของนักท่องเที่ยวด้านนอกลิบลับเชียวล่ะ

นี่นึกว่่าเขียนตอนนี้แล้วจะได้ออกจากบาร์เซโลน่านะเนี่ย! เรายังมีเวลาไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ปิกัสโซได้อีกแน่ะ เชื่อป่ะ เสียดายก็แต่มิได้เที่ยว ปาเลา กูเอลล์ ซึ่งเป็นแมนชั่น หรือคาซาของเคาสตต์อูเอเซบี กูเอลล์ ผู้สนับสนุนคนสำคัญของพี่เกาดี้เขานั่นแหละ

เลยอดชมเสารูปผลไม้บนยอดตึกเลย ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร คืนนี้ต้องเดินทางลงใต้แว้วววว...

ไปต่อ...ปาร์ก กูเอลล์




ไม่รู้ว่า ที่ขายตั๋วพ่วงระหว่าง สกราดา ฟามีเลีย และปาร์ก กูเอลล์นี่เป็นเพราะมาสเตอร์ใหญ่ของทั้ง 2 แห่งจะยังเป็นรายเดียวกัน คือ ผู้สืบทอดตระกูล "กูเอลล์" หรือเปล่า แต่ก็เอาเหอะ (ชอบคอลัมน์ รู้ไปก็เท่านั้น ในต่วยตูนน่ะ เลยชอบอยากรู้เรื่องที่ไม่รู้จะรู้ไปทำไม แฮ่ๆๆ)

มาโง่กันต่อดีก่า...

พอออกจากสกราดา ฟามีเลีย ที่เราเที่ยวชมรอบๆ รวมทั้งโรงเรียนเกาดี้ และพิพิธภัณฑ์ชั้นใต้ดินแล้ว (แต่ไม่ขึ้นลิฟต์ไปข้างบน เพราะคิวยาวมาก ต้องรอราว 2 ชั่วโมง แถมเสียเงินเพิ่มอีก 2 ยูโร = 100 บาทโดยประมาณ คนรอนี่ก็บ้าเข้าขั้น) เป้าหมายต่อไปของเราอยู่ที่ ปาร์ก กูเอลล์ -- แต่เอ... จะไปยังไงน้าาาาา

สงสัยต้องพึ่งศูนย์ท่องเที่ยวอีกรอบ แต่นั่นหมายถึงเราดันเดินวนรอบสกราดา ฟามีเลียอีกประมาณ 2 รอบ ถึงรู้ว่า มันอยู่ตรงหน้านี่เอง 55

เรามุดลงเมโทรอีกครั้ง ก่อนจะมาโผล่ใกล้ๆ และลัดเลาะมายังทางขึ้นที่ดูหรูหราอลังการด้วยการมีบันไดเลื่อน! แต่อยากจะบอกว่า บันไดเลื่อน 3-4 ช่วงที่เราเห็นเป็นเพียงภาพลวงตาครับท่านผู้ชม เพราะเรายังต้องปีนไปยังปาร์กกูเอลอย่างหอบแฮ่ก พร้อมทั้งจินตนาการไม่ออกว่า ขาลงตูจะเดินยังไง ข้อจะเสื่อมมั้ยนี่

เปลี่ยนบรรยากาศมาเล่าเรื่องปาร์กกันดีก่า จะได้ลืมความเมื่อยในการปีนอันโหดร้าย

ปาร์ก น่าจะเป็นสวนนั่นเอง ที่มีท่านเคาน์อูเอเซบี กูเอลล์ ผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ของพี่เกาดี้เป็นต้นคิด หะแรกรู้สึกจะสร้า้งเป็นหมู่บ้านสุดหรูหราในสวน ซึ่งมีทั้งสวนหินและต้นไม้ ออกแบบโดยใครคงไม่ต้องสาธยาย แต่ทว่า กลับขายไม่ออก ทั้งๆ ที่บ้านหลายหลังในสวนอันมหึมาแห่งนี้น่ารัก เหมือนหมู่บ้านในเทพนิยาย

บ้านหลังหนึ่งในนี้ จึงตกเป็นสมบัติของพี่เกาดี้ และตอนนี้ก็กลายเป็นพิพิธภัณฑ์โชว์ความเป็นอยู่ และผลงานแสนพิสดารไม่ซ้ำใครของอันโตนิโอ เกาดี้

แค่ทางเข้าของปาร์ก กูเอลล์ก็แสนตระการตา (เราเดินเข้ามาทางด้านหลัง ย้อนศรมาด้านหน้า) ด้วยบ้านขนมปัง 2 หลังสุดน่ารัก บันไดสเปนที่ทอดสูงขึ้นไปดูไม่ธรรมดาจริงๆ ด้วยลวดลายและสีสันของโมเสกที่พี่เกาดี้ออกแบบ

ที่ป๊อปปูลาร์สุดๆ เห็นจะเป็นพี่จิ้งเหลนยักษ์ประดับโมเสก เห็นภาษาอังกฤษเขียนว่าเป็น dragon ซึ่งถ่ายรูปไม่ได้เลย เพราะถูกรุมทึ้ง (ถ่ายรูปคู่) ตลอดเวลา

ป๊อปปูลาร์กว่า เสาพยุงทางเดินรูปทรงหลุดโลก ที่ยังมีโอกาสเปิดโล่งให้ "ตูริสต้า" ได้ถ่ายภาพเดี่ยวกันมั่ง

คนหลั่งไหลมาสกราดา ฟามีเลีย หรือปาร์ก กูเอลล์ ยากจะเปรียบเทียบว่า ที่ไหนเยอะกว่าที่ไหน คิดว่าที่ปาร์กนี่คนเยอะมาก เพราะกว้่างขนาดนั้นยังรู้สึกว่าคนยุ่บยั่บไปหมด

ในย่านท่องเที่ยวของสเปน มักมีคนมานั่งเล่นดนตรี โดยเฉพาะกีตาร์ฟลาเม็งโก ที่ปาร์ก กูเอลล์ นี่ก็มีอยู่หลายเจ้า ฟังดูเพราะเป็นพิเศษ สงสัยเป็นเพราะบรรยากาศงามๆ พาไป

เอ... เพลงอะไรน้าาา ลืมอีกแล้วววววว

หลังพลาดหวังจากการถ่ายรูปคู่กับ dragon หรือ จิ้งเหลนหลากสีลายโมเสก เราก็เลยเดินขึ้นบันไดมายังอาคาร "เสานัก" (ภาษาเหนือแปลว่า เสาเยอะ อิอิ) ซึ่งเป็นโถงทางเดินใต้ลานปูนข้างบนอีกที ซึ่งอย่างที่บอกก็คือ มีคุณพี่ (เคย) หนุ่มสเปนกำลังครวญกีตาร์อยู่ เป็นเพลงคลาสสิกสร้างความเคลิบเคลิ้มราวย้อนไปในอดีต

เพลงอะไรสักอย่าง (ถามป้าจ๋าแล้วไม่ยอมจำ) แต่ทำให้นึกถึงเวลาดูหนังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณค่ายกักกันที่ชอบบรรเลงเพลงคลาสสิกอ่ะ -- เพราะจัง แต่ก็ได้เวลาที่จะเดินต่อไปในสวนกูเอลล์อัน "ฟ่างฝาง"

เดินหลงไปหลงมาในที่สุดก็เจอจนได้... ก็บ้านพี่เกาดี้ไงล่ะ ปัดโธ่ ตอนนี้เรียกว่า บ้านพิพิธภัณฑ์เกาดี้ (Casa-Museu Gaudi) ที่รวมรวมผลงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์สุดอลังการยุคโมเดิร์นนิสม์ของพี่แกเอาไว้

ถ้าใครนึกยุคโมเดิร์นนิสม์ในแวดวงศิลปะไม่ออกละก็ ในแวดวงตกแต่งบ้านละง่ายเลย ก็อาร์ตนูโวยังไงล่ะ แต่ละชิ้นงี้ฉวัดเฉวียน ลวดลายโค้งมน อลังการงานสร้าง แบบ นูโว้...นูโวเชียว รับรองว่า ไม่มีใครจะออกแบบได้ประหลาดและสร้างสรรค์ได้เท่าพี่แกเลยล่ะ

ในบ้านยังเก็บส้วมสุดไฮโซ และห้องนอนแสนจะเรียบง่ายของพี่เกาดี้เอาไว้ด้วย ไม่น่าเชื่อว่า คนที่มีความคิดออกแบบเฟอร์นิเจอร์เก๋ สุดพิสดารขนาดนั้น จะมีความเป็นอยู่โค ตะ ระ จะเรียบง่าย (เหมือนโต๊ะทำงานของแกที่สกราดา ฟามีเลีย ที่มีแต่งานกับห่อผ้าใส่กับข้าวแขวนเอาไว้)

เอาละครับท่านผู้ชม ถึงเวลากลับบ้านกันแล้ว ครั้นจะปีนกลับไปทางเก่าก็แสนทดท้อใจจริงๆ ก็เลยเดินออกตรงทางเข้าจริงๆ ของปาร์ก กูเอลล์ ซะงั้น (ทำเป็นเชี่ยวชาญ) ว่าแล้วก็เดินทางตามป้ายบอกทางไปเรื่อยๆ คราวนี้ไม่หลงครับท่านผู้ชม แค่เดิมอ้อมเป็นวงกลมรอบปาร์ก กูเอลล์ในพื้นราบเท่านั้น อิอิ

ก็วันนี้ไม่รีบไปไหนแล้วนี่นา ครึครึ

พอกลับถึงที่พักสิ่งที่คำนวนก่อนนอนไม่ใช่แค่ว่าใช้ตังค์ไปเท่าไหร่ และพรุ่งนี้จะไปเที่ยวไหนกันดี

แต่เป็น... วันนี้เราเดินกันไปกี่กิโล?

อ้อ... บอกแล้วว่า รักบาร์เซโลน่า ม้าก-มาก พรุ่งนี้ยังอยู่บาร์เซ เป้าหมายคือ บ้านบัตโย่ (ไม่ใช่แรพโย่ ไม่ต้องเต้น แฮ่ๆๆ)

(to be continued...)

เที่ยวแล้วจ้า... สกราดา ฟามีเลีย





หลังจากไปเดินฝ่าอากาศหนาวที่ริมฝั่งทะเลมาแล้ว พวกเราก็นึกได้ว่า ควรจะเหน็ดเหนื่อยง่วงนอนจากการเดินทางกันบ้างนะ เพราะฉะนั้น ไปนอนพักผ่อนดีก่า

ก่อนนอน เราทำเป็นวางแผนเที่ยววันพรุ่งนี้กันพอหอมปากหอมคอ ดูเหมือนตั้งใจ เตรียมพร้อมมาเที่ยวสักนิดหน่อย ว่าแล้วก็กำหนดจุดไฮไลต์ โดยมีคู่มือชื่อว่า โลนลี แพลนเน็ต

เริ่มที่ สกราดา ฟามีเลีย การเดินทาง นั่งเมโทร (รถใต้ดิน) ไปโผล่ ณ จุดเกิดเหตุ สถานีสกราดา ฟามีเลียเลย

อย่าคิดว่า พอข้ามคืนแล้วพวกเราจะฉลาดขึ้น เพราะพอโผล่จากหลุมรถเมโทรมาปุ๊บ ก็เริ่มหันรีหันขวางกันอีกแล้วครับท่าน โชคดีที่อาศัยเดินตามนักท่องเที่ยวหมู่มาก จึงพบโบสถ์สุดอลังการงานสร้างของคุณพี่อันโตฯ เกาดี้ เข้าให้จนได้

อุแม่เจ้า ใครกันหนอที่บังอาจนำเอา สกราดา ฟามีเลีย ไปเทียบชั้นกับวัดร่องขุ่น ของคุณพี่เฉลิมชัยได้ (ม่ายอาว ไม่พูด) อิฉันจะไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์เอาไว้ ณ ที่นี้

ขอเล่าชีวิตเศร้าๆ ของพี่อันโตนิโอ เกาดี้ หรือ อันโตนี ปลาซิด กูอิลเยม เกาดี้ อี กอร์เนต ส่วนที่เกี่ยวกับสกราดา ฟามีเลีย เอาไว้พอสังเขป

เที่ยวแบบมีความรู้นะเนี่ย... อิอิ

อันโตนิโอ เริ่มต้นผลงานสุดอลังการและกลายเป็นสถานที่ที่ใครไปบาร์เซโลนาต้องไปเยือน นั่นคือ สกราดา ฟามีเลีย (Sagrada Familia หรือ The Sacred Family) วิหารที่ศักดิ์สิทธิ์แบบที่มีห้องใต้ดินสำหรับฝังพระศพของครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ หรือครอบครัวของพระคริสต์ ตามความเชื่อของนิกายคาทอลิก

หะแรกนั้น ฟรานซิสโก เดล บิลยาร์ เป็นเจ้าของโปรเจกต์ แต่อยู่ดีๆ พี่แกก็หยุดทำไปเฉยๆ สงสัยจะเห็นซึ้งถึงสัจธรรมว่า ถึงตายก็ยังสร้างไม่เสร็จ ส้มชิ้นโต (โคตรๆ) นี้ ก็เลยตกปุ๊ลงตรงหน้าของอันโตนิโอ (ผู้ไม่รู้ชะตากรรมของตัวเอง...ซะแล้ว)

เขาออกแบบให้ สกราดา ฟามีเลีย มีหอระฆัง 18 แห่ง 12 หอเพื่อระลึกถึงสาวก 12 คนของพระเยซู ส่วนอีก 4 หอระฆังสำหรับ 4 ผู้เผยพระวจนะของพระองค์ ทั้ง 16 หอระฆังตรงนี้ สูง 100 เมตร ออกแบบให้เชื่อมโยงกับโถงใหญ่ ที่จะนำมาสู่หอระฆังคู่ซึ่งสูงที่สุดบริเวณด้านหน้า (170 เมตร) ที่สร้างเพื่อสดุดีพระแม่มารีและพระเยซูคริสต์

เวลาผ่านไป ผู้ร่วมงานที่สกราดา ฟามีเลียของเขา ล้มหายตายจากไปทีละคนๆ ทำให้การก่อสร้างสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้เป็นไปด้วยความล่าช้า ผนวกกับพิษเศรษฐกิจของบาร์เซโลนาที่ไม่ปรานีใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้อุปถัมภ์คนสำคัญของเขา เคานต์เออูเซบี กูเอลล์ มีอันต้องลาโลกไปก่อน

อ้าว คราวนี้จะเอาตังส์จากที่ไหนมาสร้า้งต่อล่ะ เฮ้อ!

อาจจะโชคดีก็ได้ที่ไม่นานหลังจากนั้น เขาเองถูกรถรางชนจนปางตาย ด้วยความที่เขาอยู่ในเสื้อผ้าซอมซ่อ ทั้งในกระเป๋าสตางค์ก็ไม่มีเงินซักแดงเดียว รถแท็กซี่คันแล้วคันเล่าไม่ยอมพาไปส่งโรงพยาบาล เวลาผ่านไป ่ในที่สุดเขาก็ถูกพาไปส่งที่โรงพยาบาลคนยาก

ไม่มีใครจำได้เลยว่าเขาคือยอดศิลปินแห่งยุคโมเดิร์นนิสม์ จนกระทั่งเพื่อนของเขามาพบและพยายามให้ย้ายไปโรงพยาบาลที่ดีกว่า แต่อันโตนิโอไม่ยอม

เขาเสียชีวิตใน 3 วันต่อมา ผู้คนกว่าครึ่งค่อนเมืองบาร์เซโลนาออกมาไว้อาลัยจนทั่วท้องถนน (ไม่รู้รวมแท็กซี่รายที่ไม่ยอมพาเขาไปส่งโรงพยาบาลนั่นด้วยหรือเปล่า)

ร่างอันไร้วิญญาณของพี่เกาดี้ ได้รับการบรรจุเอาไว้ ณ ใจกลางของสกราดา ฟามีเลีย นี่เอง

เบื้องหลังเบื้องลึกเกี่ยวกับ สกราดา ฟามีเลียยังมีอีก...

ก่อนตาย อันโตนิโอได้เปลี่ยนใจ และเขียนแบบพิมพ์เขียวของสกราดา ฟามีเลีย ใหม่ทั้งหมด น่าเสียดายมากๆ ที่แบบแปลนชิ้นล่าสุดได้ถูกทำลายไป ระหว่างการเถลิงอำนาจของรัฐบาลเผด็จการของนายพลฟรังโก (ถ้าใครเคยอ่าน แด่คาตาโลนา หรือ Homage to Catalonia ของ จอร์จ ออร์เวลล์ คงเห็นบรรยากาศการเผาทุกสิ่งอย่าง โดยเฉพาะตำราความรู้ภาษาคาตาลัน) ที่กำลังสร้างต่อกันอยู่ เลยยังเป็นแปลนเดิมที่เขาคิดไว้แต่แรก ซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นเหตุให้สร้างไม่เสร็จเสียทีหรือเปล่าก็ไม่รู้ (วิญญาณแกอาจจะวนเวียน และเซ็งอยู่)

เมื่อปี 2007 ที่ผ่านมา เพิ่งมีการกำหนดเป้าหมายอย่างจริงจัง ว่าการก่อสร้างส่วนที่เหลือจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2026 (ขอให้จริงเหอะ สาธุ)

สกราดา ฟามีเลีย แสดงให้เห็นอัจฉริยภาพในการสร้างสรรค์ของยอดสถาปนิก ที่ได้แรงบันดาลใจจากอาคารสมัยโกธิก ผสมผสานกับขนบในการก่อสร้างอาคารแบบสเปนแท้ การออกแบบเสาเลียนแบบต้นไม้ การทดลองนำเอาถุงทรายเล็กๆ มาถ่วงน้ำหนัก เพื่อการออกแบบจัดวางเสา โค้งประตู/หลังคา ผนัง และห้องใต้ดิน ที่ผ่านการคำนวณมาแล้วอย่างแม่นยำ

ในชีวิตของอันโตนิโอ เขาใช้เวลามากมายไปกับการศึกษามุมมองต่างๆ และส่วนโค้งเว้าของธรรมชาติ ซึ่งได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจอันใหญ่หลวงในผลงานการออกแบบของเขาทุกชิ้น (ทุกแห่ง ล้วนได้จดทะเบียนเป็นมรดกโลกของนูเนสโก) การนำธรรมชาติมาคำนวณด้วยหลักเรขาคณิต ออกมาเป็นอาคารสถานที่ เฟอร์นิเจอร์ โคมไฟ ฯลฯ นับว่าเป็นเรื่องใหม่มากในยุคนู้น

เสาทุกต้นในสกราดา ฟามีเลีย เลียนแบบโครงร่างของต้นมะพร้าว โครงเหล็กประดับประตูของปาเลากูเอลล์ เลียนแบบรังของตัวต่อ รั้วปาร์กกูเอลล์ (Parc Guell) ลอกเลียนจากรูปทรงใบตาล หลังคาโรงเรียนเกาดี้ (หรือโรงเรียนสกราดา ฟามีเลีย) ออกแบบตามโค้งธรรมชาติของใบไม้ ฯลฯ

ว้าว... เห็นภาพกันมั้ยล่ะ?

ข้อมูลเหล่านี้ นอกจากลอกมาจากโบรชัวร์ที่มีแจกหลายภาษาแล้ว ยังมีอยู่ในมิวเซียมใต้ดินของสกราดา ฟามีเลีย และในโรงเรียนสกราดา ฟามีเลีย คุ้มโคตรๆ ซื้อบัตรคนละ 9 ยูโร (8 ยูโร ได้ดูสกราดา ฟามีเลียเพียงลำพัง) ได้เที่ยวปาร์กกูเอลล์ด้วยนะ จะบอกให้

ไว้จะเล่าเรื่องไปเที่ยวปาร์กตอนหน้า...นะตัวเอง

(to be continued...)

ถึงบาร์เซโลน่า...และ



กราบขออำไพแฟนคลับสเปนทุกๆ ท่าน ที่หลอกให้อ่านเที่ยวโง่ๆ ตอนแรกอยู่ตั้งนาน (นม) เนื่องด้วยช่วงนี้ "งานเข้า" จัดเหลือเกิน ทั้งงานราษฎร์ งานหลวง งานเจ้า (นาย) วุ่นวายไปสักนี้ดส์ กว่าจะพามาเที่ยวโง่ๆ กันต่อได้ก็แทบลืมไปเลยว่าเคยไป (ฮา)

ความเดิมตอนที่แล้ว มาถึงในเมืองบาร์เซโลน่า ก็ยังโง่ต่อ (แต่ไม่มาก) เดินหา โอ๊สตัล โปรตุเกส ที่จองเอาไว้ ตามแผนที่ที่สาธยายเอาไว้ในใบจองเป๊ะ หาป้าย Hostal Portugal ไม่เห็นจะเจอ เจอแต่ Pension Portugal ก็เกือบสุดถนนแล้ว คงจะใช่ที่นี่เอง ท่านว่าอยู่ชั้น 1

กดออด... ประตูเปิด... ชั้นแรก ไม่มีร่องรอยของการเป็น โอ๊สตัล แต่อย่างใด

ขึ้นกระได... วนครั้งที่ 1 เฮ้ย ! ยังไม่มีอีกว่ะ ใช่เปล่า (ฟะ)

แทนที่จะพะรุงพะรังกัน ก็เลยตกลงกันว่า ทิ้งกระเป๋าไว้ (แม่ม) ที่กระไดนี่แหละ เดี๋ยววิ่งขึ้นไปก่อน รู้สึกจะวนขึ้นไปอีก 2 รอบด้วยกัน จึงจะเจอหนุ่มหน้าขาวแต่คมเข้ม (แต่คาดว่ามิใช่คนสเปน เนื่องจากพูดภาษาอังกฤษได้ดี อิอิ) "ที่นี่โอ๊สตัสโปรตุเกส ใช่บ่" he พยักหน้าหงึกๆ "แม่นแล้วอีนางเอ๊ย" (อย่าลืมว่า บาร์เซโลน่าอยู่ภาคอีสาน ฮิๆ)

ขอโทษครับ คุณพี่ บ้านผมอย่างนี้เขาเรียก ชั้น 3 แล้วนะพ่อคุณ ไปรู้ตอนขึ้นลิฟต์ที่เมืองไหนสักเมืองหลังจากนั้น ว่า ที่สเปนเริ่มนับชั้นแรกเป็นชั้น 0 แล้วมีชั้น -1 ค่อยชั้น 1-2-3 ตามลำดับ -- โอ๊ย ตรูจะบ้า

เห็นมั้ยครับท่านผู้ชม แค่เดินหาโรงแรมที่พัก ยังมีเรื่องราวมากมายขนาดนี้

ที่บาร์เซโลน่า เรามี 3 เตียงนอน เนื่องจากโต้โผที่ต้องการมาสเปนนัดกันว่า จะมาขึ้นฝั่งที่บาร์เซโลน่า ดังนั้น เตียงของเพื่อนผู้เบี้ยวไม่มาซะงั้น จึงกลายเป็นที่วางสมบัติบ้าของพวกเราที่จะต้องค้างกันถึง 2 คืน

ว้าว! รัก (บาร์เซ) กันจริง

น้ำก๊อกที่กะว่าจะมาประทังชีวิตเราในบาร์เซโลน่ารสชาติฝาดเฝื่อนเป็นอย่างสูง โชคดีเมืองใหญ่ประมาณเชียงใหม่บ้านเรา มีซูเปอร์สโตร์อย่าง คาร์ฟูร์ ไว้ให้ได้ฝากชีวิต ที่มีทั้งน้ำดื่มและผลไม้ราคาถูก!

โอ้แม่เจ้า สตรอว์แบร์รี่ผลใหญ่เกือบเท่าฝ่ามือ สะใจมากๆ

เย็นวันแรกเราเดินเซอร์เวย์หนทางใกล้บ้านกลางอากาศหนาวราวๆ 15 องศา ฟังดูเหมือนไม่น่าจะหนาวเท่าไหร่ แต่ทำไม่รู้สึกหนาวมากก็ไม่รู้ สงสัยยังปรับตัวไม่ได้ โดยเฉพาะกระแดะชอบเรือที่มีเสากระโดง จึงไปเดินเล่นบริเวณท่าเรือเพื่อชักภาพสวยๆ ยามโพล้เพล้กัน

หนาวสั่นกันไปเลยสิคุณ

อิอิ มันยังไม่เริ่มเที่ยวซ้ากที ...

(to be continued...) ก่อนแล้วกัน เนอะ

วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

เที่ยวโง่ๆ ในบาร์เซโลนา

พี่น้องครับ ... ขอบอกว่า ก่อนจะไปเที่ยวทีไร เป็นต้องปิดต้นฉบับให้หูตูบทุกครั้งไป
จึงไมแปลกเลยที่การไปท่องเที่ยวไกลถึงแดนกระทิงดุ ไม่ได้มีการเตรียมตัวอะไรพิเศษเกินไปกว่าการจัดกระเป๋าเสื้อผ้า่"เผื่อหนาว" หลังจากที่โดนไซโคไว้เยอะว่า หนาวนะเว้ย... ต้องเสื้อขนเป็ดตัวพองจึงจะเอาอยู่ ... บลาๆๆๆ
เอายังไงดีวะตรู อุตส่าห์ลงทุนควักตั้งค์ 380 บาทซื้อเสื้อวอร์มมีฮู้ดมา 1 ตัว (ไม่ใช่แนวเลยขอบอก) โดยกะว่า ถ้าหนาวมั่กๆ เสื้อโค้ตหนังคงจะเอาอยู่
ไปถึงก็โง่เลยครับพี่น้อง หลังจากการรอคอยอันแสนยาวนานถึง 5 ชั่วโมงที่สนามบินน่าเบื่อที่สุดในโลก ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งทำให้เราเมินเงินคนละ 200 ยูโรที่นำมาฟาดศีรษะเหนาะๆ หาก "ยู" จะนั่งรอต่ออีกซัก 2 ชั่วโมง (ไม่ไหวแล้วครับพี่น้อง)
ออสเตรียนแอร์ไลน์ใช้เวลาอีกราว 3 ชั่วโมง เราก็เดินทางถึงกรุงบาร์เซโลนา เมืองหลวงของแคว้นคาตาลัน... พอเหยียบแผ่นดินสเปนปุ๊บ เราก็เปิดกรงปล่อยไก่ปั๊บ เมื่อเดินตามผู้ชายคนหนึ่งมายังเทอร์มินอล A อย่างไม่ดูตาม้าตาเรือ ทะลุเข้าประตูมาถึงสายพานรับกระเป๋า
หันมองข้างขวา เฮ้้ย... ทำไมคนพวกนั้นถึงได้ไปผ่าน ต.ม. เข้ามาล่ะ อาการแพนิก เหงื่อหยด วิตกจริตเริ่มถามหาเราทั้งคู่ และแล้วเราก็พยายามตะเกียกตะกายหาทางออก เพื่อที่จะไปผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองของสเปนให้ได้
โอ๊ะโอววว์... เราจะเข้าเมืองผิดกฎหมายหรือเปล่า (วะ)
เดินเลาะไปเลาะมายังไง ก็หาทางออกไปจากโถงนั้นไม่ได้ คล้ายสายน้ำที่ไม่ยอมไหลย้อนกลับ ยังไงยังงั้น
ในที่สุดพวกเราก็รวบรวมความกล้า (อันผลักดันด้วยอาการวิตกจริต) ไปยังสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง
พี่ตำรวจสเปนสุดหล่อก็งงไม่แพ้เรา แกคว้าพาสสปอร์ต 2 เล่มเดินหายไป (ศึกษา) สักพัก จึงออกมาอธิบาย
"ก็ยูแสตมป์เข้าประเทศเชงเก้นมาแล้ว เข้าใจมั้ย ประเทศเชงเก้นมี สเปน ออสเตรีย เยอรมัน ฝรั่งเศส ... (บลาๆๆๆ) ถ้าเข้ามาแล้วยูก็ไม่ต้องมาตรวจที่นี่อีก"
เออ... นั่นนะสิ ไก่เอ๊ยไก่กุ๊กๆ กลับเล้าได้แล้ว
เรื่องราวยังไม่จบลงเท่านั้นพี่น้องเอ๊ย... พอไปถามอินฟอร์เมชัน อีนี้ฉันจะไปยังที่พักได้อย่างไร บาร์เซโลนานับเป็นศูนย์นักท่องเที่ยวที่เริ่ดสุดในสเปนแล้ว แต่การสื่อสารภาษาอังกฤษ ก็ยังเป็น คอมมิวนิเคชัน เบรคดาวน์ อยู่ดี
เจ๊แกบอกให้ไปขึ้นรถเมล์ "ฟรี" ที่ "บริดส์" ฮ่วย ไอ้ บริดส์ ที่ว่านี่มันอีหยังหว่า...
ไปถึงรถเมล์คันแรก จำได้ว่าสาย A1 ผู้คนนอกจากเ้ข้าคิวรอขึ้นรถเมล์แล้ว ยังมีคิวกดซื้อตั๋วอีกด้วย????
อ้าว เจ้คนนั้นบอกว่า ขึ้นฟรี นี่นา
มองเห็นสะพานข้ามถนนอยู่ไกลลิบๆ อ้อ สงสัยพี่เข้าบอกให้้ไปที่สะพาน ... บริดส์ ของเจ้นั่นคือ บริดจ์ ที่แปลว่า สะพาน นั่นเอง! ว้าว - เป้าหมายของเราจึงเป็นสะพานสีขาวอันไกลโพ้น ดูเหมือนชาตินี้จะเดินถึงหรือเปล่าไม่รู้
เดินๆๆๆๆๆๆ เข้าไป ความพยายามอยู่ที่ไหน (ไม่รุ) กลายเป็นความสูญเปล่า เพราะเราหลงเดินเลยไป บริดส์ หรือ บริดจ์ ที่ว่า ก็แค่สะพานเชื่อมตึก 2 หลัง เลยป้าย A1 มาติ๊ดเดียวเอง
อ้าว... อย่างนี้ไม่เรียกว่า บริดจ์ แล้วเรียกอะไรล่ะ -- นั่นอะดิ
แต่ถึงยังไง เราก็นั่งรถเมล์ และรถไฟ ฟรี! ไปยังใจกลางเมืองบาร์เซโลนาได้ล่ะน่า อะโด่เอ๊ย

(to be continued)

I lost my sole (aka soul) at Alhambra!

even no time to feel anything when leaving Espana, with this "kra-hued-kra-hob-n-kra-bue" tour, but my sole (aka soul, ieieie) still there, somewhere in Alhambra, a world heritage and 1 of the 7 wonder of new world nomination.
my poor black and decay sole never have a chance to "salida" spain or even granada, a nice and rememberablia city to lose ur soul (aka sole), ni. -- nice people except that informacion bitch at the "tren estacion".
Very nice "khun loong" at alcazaba hostal who guided us everything, most of all he boiled us some hot water for "mama starbuck's cup noodle"
and now i think my english is broken, some pieces had lost there too, i guess, nah.
one guy asked me (in English) at renfe ticket room "do you know which 1 i shud press" (he meant about the queue ticket box). I -- after losing my mind in spanish language -- "errrrrr... I dont speak English!" (actually, i mean spanish) but my "Sa-Ti" (concious) been gone for a while.
after it came back i point at "salida hoy" and said "ticket today" (ha) so that guy looked at me in question mark face like so u think u can speak english or not... but said "thank you".
this tale taught us that... there's always 1 or more "salida" (way out) everywhere. 5555555
HOY!

I lost my sole (aka soul) at Alhambra!