วันเสาร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

เที่ยวแล้วจ้า... สกราดา ฟามีเลีย





หลังจากไปเดินฝ่าอากาศหนาวที่ริมฝั่งทะเลมาแล้ว พวกเราก็นึกได้ว่า ควรจะเหน็ดเหนื่อยง่วงนอนจากการเดินทางกันบ้างนะ เพราะฉะนั้น ไปนอนพักผ่อนดีก่า

ก่อนนอน เราทำเป็นวางแผนเที่ยววันพรุ่งนี้กันพอหอมปากหอมคอ ดูเหมือนตั้งใจ เตรียมพร้อมมาเที่ยวสักนิดหน่อย ว่าแล้วก็กำหนดจุดไฮไลต์ โดยมีคู่มือชื่อว่า โลนลี แพลนเน็ต

เริ่มที่ สกราดา ฟามีเลีย การเดินทาง นั่งเมโทร (รถใต้ดิน) ไปโผล่ ณ จุดเกิดเหตุ สถานีสกราดา ฟามีเลียเลย

อย่าคิดว่า พอข้ามคืนแล้วพวกเราจะฉลาดขึ้น เพราะพอโผล่จากหลุมรถเมโทรมาปุ๊บ ก็เริ่มหันรีหันขวางกันอีกแล้วครับท่าน โชคดีที่อาศัยเดินตามนักท่องเที่ยวหมู่มาก จึงพบโบสถ์สุดอลังการงานสร้างของคุณพี่อันโตฯ เกาดี้ เข้าให้จนได้

อุแม่เจ้า ใครกันหนอที่บังอาจนำเอา สกราดา ฟามีเลีย ไปเทียบชั้นกับวัดร่องขุ่น ของคุณพี่เฉลิมชัยได้ (ม่ายอาว ไม่พูด) อิฉันจะไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์เอาไว้ ณ ที่นี้

ขอเล่าชีวิตเศร้าๆ ของพี่อันโตนิโอ เกาดี้ หรือ อันโตนี ปลาซิด กูอิลเยม เกาดี้ อี กอร์เนต ส่วนที่เกี่ยวกับสกราดา ฟามีเลีย เอาไว้พอสังเขป

เที่ยวแบบมีความรู้นะเนี่ย... อิอิ

อันโตนิโอ เริ่มต้นผลงานสุดอลังการและกลายเป็นสถานที่ที่ใครไปบาร์เซโลนาต้องไปเยือน นั่นคือ สกราดา ฟามีเลีย (Sagrada Familia หรือ The Sacred Family) วิหารที่ศักดิ์สิทธิ์แบบที่มีห้องใต้ดินสำหรับฝังพระศพของครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ หรือครอบครัวของพระคริสต์ ตามความเชื่อของนิกายคาทอลิก

หะแรกนั้น ฟรานซิสโก เดล บิลยาร์ เป็นเจ้าของโปรเจกต์ แต่อยู่ดีๆ พี่แกก็หยุดทำไปเฉยๆ สงสัยจะเห็นซึ้งถึงสัจธรรมว่า ถึงตายก็ยังสร้างไม่เสร็จ ส้มชิ้นโต (โคตรๆ) นี้ ก็เลยตกปุ๊ลงตรงหน้าของอันโตนิโอ (ผู้ไม่รู้ชะตากรรมของตัวเอง...ซะแล้ว)

เขาออกแบบให้ สกราดา ฟามีเลีย มีหอระฆัง 18 แห่ง 12 หอเพื่อระลึกถึงสาวก 12 คนของพระเยซู ส่วนอีก 4 หอระฆังสำหรับ 4 ผู้เผยพระวจนะของพระองค์ ทั้ง 16 หอระฆังตรงนี้ สูง 100 เมตร ออกแบบให้เชื่อมโยงกับโถงใหญ่ ที่จะนำมาสู่หอระฆังคู่ซึ่งสูงที่สุดบริเวณด้านหน้า (170 เมตร) ที่สร้างเพื่อสดุดีพระแม่มารีและพระเยซูคริสต์

เวลาผ่านไป ผู้ร่วมงานที่สกราดา ฟามีเลียของเขา ล้มหายตายจากไปทีละคนๆ ทำให้การก่อสร้างสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้เป็นไปด้วยความล่าช้า ผนวกกับพิษเศรษฐกิจของบาร์เซโลนาที่ไม่ปรานีใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้อุปถัมภ์คนสำคัญของเขา เคานต์เออูเซบี กูเอลล์ มีอันต้องลาโลกไปก่อน

อ้าว คราวนี้จะเอาตังส์จากที่ไหนมาสร้า้งต่อล่ะ เฮ้อ!

อาจจะโชคดีก็ได้ที่ไม่นานหลังจากนั้น เขาเองถูกรถรางชนจนปางตาย ด้วยความที่เขาอยู่ในเสื้อผ้าซอมซ่อ ทั้งในกระเป๋าสตางค์ก็ไม่มีเงินซักแดงเดียว รถแท็กซี่คันแล้วคันเล่าไม่ยอมพาไปส่งโรงพยาบาล เวลาผ่านไป ่ในที่สุดเขาก็ถูกพาไปส่งที่โรงพยาบาลคนยาก

ไม่มีใครจำได้เลยว่าเขาคือยอดศิลปินแห่งยุคโมเดิร์นนิสม์ จนกระทั่งเพื่อนของเขามาพบและพยายามให้ย้ายไปโรงพยาบาลที่ดีกว่า แต่อันโตนิโอไม่ยอม

เขาเสียชีวิตใน 3 วันต่อมา ผู้คนกว่าครึ่งค่อนเมืองบาร์เซโลนาออกมาไว้อาลัยจนทั่วท้องถนน (ไม่รู้รวมแท็กซี่รายที่ไม่ยอมพาเขาไปส่งโรงพยาบาลนั่นด้วยหรือเปล่า)

ร่างอันไร้วิญญาณของพี่เกาดี้ ได้รับการบรรจุเอาไว้ ณ ใจกลางของสกราดา ฟามีเลีย นี่เอง

เบื้องหลังเบื้องลึกเกี่ยวกับ สกราดา ฟามีเลียยังมีอีก...

ก่อนตาย อันโตนิโอได้เปลี่ยนใจ และเขียนแบบพิมพ์เขียวของสกราดา ฟามีเลีย ใหม่ทั้งหมด น่าเสียดายมากๆ ที่แบบแปลนชิ้นล่าสุดได้ถูกทำลายไป ระหว่างการเถลิงอำนาจของรัฐบาลเผด็จการของนายพลฟรังโก (ถ้าใครเคยอ่าน แด่คาตาโลนา หรือ Homage to Catalonia ของ จอร์จ ออร์เวลล์ คงเห็นบรรยากาศการเผาทุกสิ่งอย่าง โดยเฉพาะตำราความรู้ภาษาคาตาลัน) ที่กำลังสร้างต่อกันอยู่ เลยยังเป็นแปลนเดิมที่เขาคิดไว้แต่แรก ซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นเหตุให้สร้างไม่เสร็จเสียทีหรือเปล่าก็ไม่รู้ (วิญญาณแกอาจจะวนเวียน และเซ็งอยู่)

เมื่อปี 2007 ที่ผ่านมา เพิ่งมีการกำหนดเป้าหมายอย่างจริงจัง ว่าการก่อสร้างส่วนที่เหลือจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2026 (ขอให้จริงเหอะ สาธุ)

สกราดา ฟามีเลีย แสดงให้เห็นอัจฉริยภาพในการสร้างสรรค์ของยอดสถาปนิก ที่ได้แรงบันดาลใจจากอาคารสมัยโกธิก ผสมผสานกับขนบในการก่อสร้างอาคารแบบสเปนแท้ การออกแบบเสาเลียนแบบต้นไม้ การทดลองนำเอาถุงทรายเล็กๆ มาถ่วงน้ำหนัก เพื่อการออกแบบจัดวางเสา โค้งประตู/หลังคา ผนัง และห้องใต้ดิน ที่ผ่านการคำนวณมาแล้วอย่างแม่นยำ

ในชีวิตของอันโตนิโอ เขาใช้เวลามากมายไปกับการศึกษามุมมองต่างๆ และส่วนโค้งเว้าของธรรมชาติ ซึ่งได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจอันใหญ่หลวงในผลงานการออกแบบของเขาทุกชิ้น (ทุกแห่ง ล้วนได้จดทะเบียนเป็นมรดกโลกของนูเนสโก) การนำธรรมชาติมาคำนวณด้วยหลักเรขาคณิต ออกมาเป็นอาคารสถานที่ เฟอร์นิเจอร์ โคมไฟ ฯลฯ นับว่าเป็นเรื่องใหม่มากในยุคนู้น

เสาทุกต้นในสกราดา ฟามีเลีย เลียนแบบโครงร่างของต้นมะพร้าว โครงเหล็กประดับประตูของปาเลากูเอลล์ เลียนแบบรังของตัวต่อ รั้วปาร์กกูเอลล์ (Parc Guell) ลอกเลียนจากรูปทรงใบตาล หลังคาโรงเรียนเกาดี้ (หรือโรงเรียนสกราดา ฟามีเลีย) ออกแบบตามโค้งธรรมชาติของใบไม้ ฯลฯ

ว้าว... เห็นภาพกันมั้ยล่ะ?

ข้อมูลเหล่านี้ นอกจากลอกมาจากโบรชัวร์ที่มีแจกหลายภาษาแล้ว ยังมีอยู่ในมิวเซียมใต้ดินของสกราดา ฟามีเลีย และในโรงเรียนสกราดา ฟามีเลีย คุ้มโคตรๆ ซื้อบัตรคนละ 9 ยูโร (8 ยูโร ได้ดูสกราดา ฟามีเลียเพียงลำพัง) ได้เที่ยวปาร์กกูเอลล์ด้วยนะ จะบอกให้

ไว้จะเล่าเรื่องไปเที่ยวปาร์กตอนหน้า...นะตัวเอง

(to be continued...)

ไม่มีความคิดเห็น: