วันเสาร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2551

!Hola Granada… Welcome to the Hills of Strangers







กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว อินเทรนด์มาได้พักใหญ่ สำหรับจุดหมายปลายทางในยุโรปตะวันตกเฉียงใต้ที่ชื่อว่า สเปน ประเทศที่ร่ำลือกันว่า เต็มไปด้วยหนุ่มหล่อและสาวสวยเซ็กซี่

ชื่อเมืองอย่าง มาดริด บาร์เซโลน่า หรือเซบีญ่า อาจเป็นที่คุ้นหูกันดี และเป็นสถานที่ที่ไม่น่าพลาดหากไปเยือนแดนดินถิ่นกระทิง (ดุ) แต่ถ้าถามว่าไปมาแล้วประทับใจเมืองไหนมากที่สุด ก็ต้องตอบเสียงดังๆ ว่าเป็น กรานาดา เมืองอุปราชของแคว้นอันดาลูเซีย ทางตอนใต้ของประเทศสเปน

เจ้าของโอ๊สตาล (hostal) ที่พักกล่าวอย่างอ่อนน้อมถ่อมตัวว่า กรานาดา เป็นเพียงเมืองเล็กๆ กระนั้นเมืองเล็กน่ารักเมืองนี้ก็เป็นเมืองเก่าแก่อันเป็นที่ตั้งของมรดกโลก อย่าง อะลัห์มบรา (Alhambra) พระราชวังสีแดง มรดกตกทอดจากเมื่อครั้งแขกมัวร์ปกครองดินแดนแห่งนี้ และเป็นอลังการงานสร้างที่ทำให้กรานาดามีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ในฐานะสถานที่ตั้งของมรดกโลกยูเนสโก ที่เข้ารอบสุดท้ายในการโหวต 7 สิ่งมหัศจรรย์แห่งโลกยุคใหม่ เมื่อปี 2007 ที่ผ่านมา

กรานาดา ผสมผสานหลากหลายวัฒนธรรมเอาไว้อย่างเห็นได้ชัดเจนยิ่งกว่าที่อื่นใดในสเปน ร่องรอยของแขกมัวร์ หรือวัฒนธรรมแบบมุสลิมอาจปรากฏชัดที่สุด ด้วยพระราชวังมรดกโลกอันเป็นประจักษ์หลักฐานอันยิ่งใหญ่ เช่นเดียวกับโบสถ์คริสต์ที่กลายเป็นศาสนาประจำชาติในกาลต่อมา ขณะที่ศาสนายิวซึ่งเคยครอบครองหลายเมืองในสเปนมาก่อนหน้าใครๆ ก็มิได้ถูกลบออกไปจากวิถีแห่งกรานาดาแต่อย่างใด

กรานาดาคล้ายเมืองเล็กในนิทานอันมีความเป็นมายาวนานนับศตวรรษ ในฐานะที่เคยเป็นศูนย์กลางการปกครองมาก่อน เมืองเล็กๆ แห่งนี้จึงมิได้ทิ้งอดีตเอาไว้เป็นเพียงเวลาผันผ่าน หรือเพียงอวดอ้างตราสัญลักษณ์รูปพญาอินทรีย์อันเก่าแก่ หรือเป็นที่ที่สมเด็จพระราชินีอิซาเบลลาผู้ยิ่งยงเลือกที่จะมาฝังพระวรกายเอาไว้เท่านั้น

หาก ณ วันนี้ ยังคงมีความสำคัญทางด้านการทหารและการปกครองของแคว้นอันดาลูเซีย อาจด้วยเพราะเป็นหน้าด่านสู่แอฟริกาเหนือนั่นเองที่ทำให้กรานาดาอยู่ในฐานะเมืองหลวงทางด้านการปกครองของแคว้น เนื่องเพราะเป็นประตูสู่แอฟริกาเหนือ ทั้งเป็นยุทธภูมิที่ดีเหนือช่องแคบยิบรอลตา ขณะที่เซบีญ่า เมืองหลวงอันดาลูเซียตัวจริง เป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ (เพราะอยู่ติดเมืองท่าอย่าง ม้าลากา (Malaga)

สำหรับชื่อกรานาดานั้น มีหลากหลายที่มา สันนิษฐานแรกเชื่อว่า มาจากภาษาสเปนที่แปลว่า ทับทิม ซึ่งผลไม้ชนิดนี้มีมากมายในท้องถิ่น และยังปรากฏให้เห็นเป็นหลักฐานในตราสัญลักษณ์ประจำเมืองด้วย

ขณะที่อีกข้อหนึ่งก็บอกว่า เรื่องทับทิมเป็นความเข้าใจไปเองและนำเข้ามาใส่ไว้ในตราสัญลักษณ์ประจำเมืองในตอนหลัง จริงๆ แล้ว ชื่อเมืองนี้น่าจะมาจากภาษาแขกอาหรับ ว่า การ์นาตาห์ (Gharnatah) ซึ่งหมายถึง “ขุนเขาของคนแปลกหน้า” ข้อสันนิษฐานนี้น่าเชื่อถือมากกว่า เพราะตั้งแต่ศตวรรษที่ 5 นั้น กรานาดาเป็นแดนดินถิ่นเดียว (และมีภูมิประเทศเป็นเชิงเขา) ที่นับถือศาสนาอิสลาม ขณะที่รอบข้างนั้นเป็นคริสเตียนกันหมด

ก่อนที่ฝ่ายคริสเตียนของสเปนจะยึดครองกรานาดาไว้ได้ ในสมัยของสมเด็จพระราชินีอิซาเบลลา ที่ 1 (Isabella I) พระองค์เดียวกับที่โปรดเกล้าฯ ให้ โคลัมบัส หรือที่ชาวสเปนเรียกว่า โกลอน (Colon) ให้ไปสำรวจหาทวีปเอเชีย (อินเดีย) แต่กลับไปพบดินแดนใหม่ อย่าง อเมริกานั่นเอง

ก่อนหน้านี้ กรานาดาเต็มไปด้วยคนพื้นเมืองที่เรียกตัวเองว่า อิลไบร์ (Ilbyr) ก่อนจะโดนชาวโรมันเข้ามายึดครอง ตั้งเป็นเมืองชื่ออิลลิบริส (Illibris) กระทั่งชาวอาหรับเข้ามาครอบครองได้สำเร็จ จึงเป็นกำเนิดของนาม กรานาดา ซึ่งรุ่งเรืองมากในสมัยของราชวงศ์นาซารี ในศตวรรษที่ 14 อันมีหลักฐานเป็นพระราชวังสีแดงซึ่งเป็นมรดกโลก อย่าง อะลัห์มบรา

การเดินทางไปกรานาดาไปได้หลายทาง หากเริ่มต้นจากมาดริดหรือบาร์เซโลนา เมืองใหญ่ 2 เมืองในสเปน ซึ่งมีเครื่องบินจากบ้านเราไปถึง ก็อาจจะต้องเดินทางไกลสักหน่อย ซึ่งสามารถทำได้ทั้งทางรถบัสและรถไฟ คนส่วนใหญ่นิยมเดินทางทางรถไฟมากกว่า เหตุเพราะเป็นขนส่งมวลชนที่ดีที่สุดในสเปน

ขอแนะนำการเดินทางโดยรถไฟกลางคืน หรือ Tren Hotel ที่จะประหยัดที่พักไปหนึ่งคืน แต่กระนั้นต้องวางแผนล่วงหน้า โดยเฉพาะคนไม่รู้ภาษาสเปนอาจมีปัญหาในการไปซื้อตั๋วที่สถานี (เข้าไปจอง Tren Hotel ก่อนที่ http://www.renfe.es/horarios/english/index.html) รถไฟที่นี่ จะใกล้จะไกลก็จะมีเลาจน์สำหรับให้คนไปดื่มไปกินกันให้สำราญใจ

ที่พัก ร้านอาหาร และแหล่งช็อปปิ้งในกรานาดาส่วนใหญ่จะตั้งอยู่แถวๆ ถนนกรานเบีย (Gran Via) หาถนนนี้เจอรับรองได้ว่าไม่มีหลงทางแน่ เพราะจะเป็นช่องทางที่เชื่อมไปยังถนนสายย่อยๆ หรือ กาล์เย่ (calle) ทั้งหลายในย่านกลางเมือง

ถนนกรานเบีย (ย่อมาจาก กรานเบีย เด โกลอน) ประดับเอาไว้อย่างเก๋ไก๋ด้วยโคมไฟสมัยใหม่ตลอดสาย ป้ายบอกชื่อถนนที่นี่ก็เก๋ไม่แพ้กัน โดยไม่มีเสาตั้งขึ้นมาให้รกหูรกตารกที่รกทาง ทว่าเป็นการสลักชื่อกาล์เย่ย่อยๆ ลงบนถนนเลย (สังเกตว่าที่เมืองอื่นๆ จะติดชื่อถนนไว้ตามมุมตึก) เพราะฉะนั้น หากจะมองหาถนนใดๆ นั้น ต้องก้มมองที่พื้นเอา และยากที่จะมองเห็นจากฝั่งตรงกันข้าม

กรานเบียถือเป็นย่านศูนย์กลาง นอกจากห้างดังของสเปนที่มีอยู่ทุกเมือง อย่าง El Corte Inglés (หมายถึง การแต่งตัวสไตล์คนอังกฤษ) ที่มักจะมีเสื้อผ้าแบรนด์เนมรวมตัวกันอยู่แล้ว ธุรกิจที่มีมากที่สุดที่นี่เห็นจะเป็นรองเท้า ที่หายใจสามสี่ทีก็เดินไปเจอร้านรองเท้าอีกแล้ว ซึ่งรูปแบบและราคาก็น่าช็อปเป็นที่สุด (ถ้ามีแรงแบกไหว)

ย่านใจกลางเมืองบริเวณนี้ ยังเป็นที่ตั้งของสถานที่ดื่มกิน อาจจะไม่เป็นอาหารของนักท่องเที่ยวจ๋า เป็นต้นว่า ทาปาส (tapas) ข้าวผัดปาเอลย่า (paella) แต่เป็นร้านอาหารที่ค่อนข้างเป็นกิจจะลักษณะหน่อย ตั้งแต่ร้านอาหารอิตาเลียน เมดิเตอร์เรเนียน อะไรประมาณนั้น

ผู้ประสงค์กินอยู่อย่างประหยัด มีอาหารง่ายๆ อย่าง พิซซาสไตล์สเปน (รูปทรงสี่เหลี่ยมขนาดพออิ่ม) ให้บริการตามร้านเบเกอรีและร้านกาแฟ ขณะที่ร้านขายอาหารแนวมุสลิมและยิว เช่น เคบับ ฟาราเฟล หรือไก่ย่างเป็นตัวๆ ก็มีให้เห็นตามตรอกซอกซอยที่แยกย่อยเข้าไปสู่ย่านช็อปของเก๋ๆ แนวยิปซี

ก่อนจะหนีไปไกลจากถนนกรานเบีย ต้องแวะไปเยี่ยมชมโบสถ์คริสต์ หรือ กาเตดรัล (Catedral) ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่แรกที่คริสเตียนขึ้นมาเรืองอำนาจ ที่นี่เองเป็นที่ฝังพระศพของพระราชินีอิซาเบลลา ที่ 1 รวมทั้ง ผู้สืบบัลลังก์สเปนต่อจากพระนาง อย่าง พระเจ้าฟิลิป ที่ 1 หรือผู้มีพระสมัญญานามว่า “ฟิลิป เดอะ แฮนด์ซัม” (Philip the Handsome) ต้องเข้าไปชมกันเองว่า จะหล่อขนาดไหน

ในกาเตดรัลยังมีพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาคริสต์จำนวนมากเอาไว้ให้คุ้มค่าเข้าชม 3.5 ยูโรอีกด้วย งานศิลปะย้อนไปถึงยุคที่ยังวาดสีน้ำมันลงบนแผ่นไม้กันเลยทีเดียว

ย่านกาเตดรัลยังมีแหล่งช็อปปิ้งมากมาย ส่วนใหญ่เป็นของที่ระลึกไว้ซื้อฝากเพื่อนฝูงที่ไม่ได้ร่วมทริปมาด้วย ตั้งแต่ เสื้อยืด โปสการ์ด แก้ว ธง กระเป๋าพิมพ์ลายชื่อเมืองกรานาดา ฯลฯ แต่ถ้าต้องการจะช็อปของเก๋แนวยิปซีและแขกมัวร์ต้องย้ายวิกไปเดินลัดเลาะถนนที่เป็นคู่ขนานกับกรานเบีย

บริเวณนี้เรียกว่า ย่านอัลไบซิน (Albaicin) เป็นย่านเก่าแก่ลักษณะเป็นเชิงเขา ที่สมัยก่อนนั้นเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวยิว บางคนเชื่อว่า อัลไบซิน แปลว่า ที่อยู่อาศัยของคนฝึกเหยี่ยว ทว่า นักประวัติศาสตร์ออกมาแย้งว่า น่าจะหมายถึง ย่านอาศัยของชาวบาเอซา (Baeza) มากกว่า

ย้อนไปในสมัยที่คริสเตียนเริ่มเรืองอำนาจ ชาวมัวร์ซึ่งนับถือศาสนาอิสลามถูกบีบให้ออกจากเมืองบาเอซา ใกล้ๆ กับเมืองฆาเอน (Jaen) มาอยู่ที่นี่ แล้วก็ก่อร่างสร้างเมือง ณ เชิงเขา ซึ่งสามารถมองเห็นพระราชวังสีแดง หรือ อะลัห์บรา บนยอดเขาเซียร์รา เนบาดา (Sierra Nevada) ได้อย่างชัดเจน

หลายๆ คนแปลกใจว่า เหตุใดในย่านมุสลิมจึงเต็มไปด้วยโบสถ์คริสต์ ไม่ว่าจะเป็น โบสถ์ซานมิเกล บาโฆ (San Miguel Bajo) หรือโบสถ์ซานนิโกลาส (San Nicolás) ฯลฯ นั่นคือการแสดงแสนยานุภาพเหนือผู้ที่ถูกปกครอง โดยมีเรื่องเล่าว่า โบสถ์เหล่านี้สร้างจากงบประมาณที่จริงๆ แล้วต้องนำไปสร้างมัสยิดของแขกมัวร์ด้วยซ้ำไป – แต่นั่นก็เป็นเรื่องราวของอดีตกาลนานมาแล้ว ต่างจากปัจจุบันที่การผสมผสานทางวัฒนธรรมได้กลายเป็นเสน่ห์ของย่านอัลไบซินไป

ใครมากรานาดา ก่อนที่จะไปเยี่ยมชมอัครสถาน อย่าง อะลัห์มบรา ต้องมา “พรีวิว” พระราชวังสีแดงแห่งราชวงศ์นาซารีที่ย่านนี้ก่อน ทางเดินที่เลี้ยวลดคดเคี้ยวเช่นเขาวงกต ไม่น่าอายที่จะหลง! เพราะจะเป็นการเดินชมบ้านเรือนที่งดงาม โดยเฉพาะช่วงก่อนฤดูร้อนเล็กน้อย ซึ่งอากาศยังไม่ร้อนจัด แต่เริ่มมีแสงแดดจ้า ฟ้าใสๆ ตัดกับบ้านเรือนสีขาวงดงามราวหมู่บ้านในนิทาน

เสื้อผ้า เครื่องประดับ กระเป๋า รองเท้า แบบยิปซีมีให้ช็อปแทบจะตลอดทางในย่านนี้ รวมทั้งจุดชมวิว (อะลัห์มบรา) อีก 2-3 แห่ง ที่จะมีร้านขายเครื่องดื่มเย็นๆ มีนักดนตรีอิสระมาแจมเพลงเปิดหมวกกันอย่างสุขสันต์หรรษา

คนที่วางแผนว่าจะไปเที่ยวอะลัห์มบราก่อน แล้วค่อยมาเดินทอดน่องแถวอัลไบซิน ควรคิดเสียใหม่ให้อัลไบซินเป็นพรีวิว 1 วัน ก่อนเยี่ยมชมพระราชวังเลื่องชื่อในวันถัดไปจะเหมาะกว่า เพราะว่าทั้ง 2 แห่งนั้นต้องอาศัยเวลาในการเดิน เดิน เดิน แล้วก็เดิน (ควรเตรียมรองเท้าที่สวมสบาย)

โดยเฉพาะพระราชวังบนขุนเขาของคนแปลกหน้า นามว่า เซียร์รา เนบาดา (Sierra Nevada) นั้น กว้างขวางตลอดขุนเขาเชียวล่ะ นอกจากอลังการงานสร้างของพระราชวังหลักของราชวงศ์นาซารี (Palace of Charles V) ที่เต็มไปด้วยลวดลายสลักเสลา ไปพร้อมๆ กับถ้อยคำมงคลจากพระคัมภีร์อัลกุระอ่านอย่างวิจิตรงดงามแล้ว ในบริเวณอันกว้างขวางนั้น ยังประกอบด้วยอาคารที่โชว์สถาปัตยกรรมการก่อสร้างแห่งยุค อย่าง เจเนราลลิเฟ (Generalife) ที่อยู่คู่กับสวนสวยแบบสเปน อันมีองค์ประกอบสำคัญเป็นน้ำพุงามกลางสวน ยังมี ป้อมปราการขนาดใหญ่ (Alcazaba) ที่จะมองเห็นวิวทิวทัศน์โดยรอบของเมืองเล็กในนิทานแห่งนี้ได้อย่างชัดเจน

หากมีแผนจะไปเยือนกรานาดา และต้องไม่พลาดไปเที่ยวอะลัห์มบรา ควรจองตั๋วล่วงหน้าผ่านทางอินเทอร์เน็ตไปให้เรียบร้อย (http://www.alhambra.org/eng/index.asp?secc=/inicio) ไปเช่นนั้นคุณอาจต้องไปยืนเข้าแถวรอคิวกันตั้งแต่เช้า และอาจเสียเวลาถึง 2 ชั่วโมงก็เป็นได้ ช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่น่าไปเยือน คือ ปลายๆ ของฤดูหนาวก่อนจะเข้าซัมเมอร์ แม้ตอนเช้าๆ จะหนาวเหน็บสักหน่อย แต่พอได้ออกกำลังเดินชมพระราชวังซึ่งกินเนื้อที่เกือบทั้งภูเขา ก็ทำให้หายหนาวเป็นปลิดทิ้ง

ในตั๋วเข้าเยี่ยมชม จะมีเวลากำกับเอาไว้ นั้นหมายถึงเวลาที่ต้องไปเข้าชมส่วนพระราชวังหลัก หรือ พาเลซ ออฟ ชาร์ลส์ ที่ 5 ที่ต้องไปให้ตรงเวลา ดังนั้นควรวางแผนในการชมส่วนอื่นๆ ให้ดี โดยเฉพาะการไปชมเจเนราลลิเฟกับสวนสเปน ซึ่งค่อนข้างต้องใช้เวลามากสักนิด

ตั๋วแบ่งเป็นช่วงเช้ากับช่วงค่ำ ถ้าไม่รีบไปไหนลองจองตั๋วช่วงค่ำ เพราะจะได้ไปนั่งชมน้ำพุเริงระบำบริเวณเจเนราลลิเฟ เป็นการปิดท้ายวันให้นอนหลับฝันดี