วันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2551

เดินทางลงใต้ไปกรานาดา





ในที่สุดก็ถึงกาลลาจากบาร์เซโลนาซ้ากที ขอจรลีไปที่เมืองอื่นๆ บ้างเถอะ แม้จะมีอลังการงานสร้างอีกหลายแห่งของพี่เกาดี้ที่ยังมิได้ไปเยือน (เอาไว้โอกาสหน้าแล้วกันนะ เมื่อไหร่ก็ม่ายรุ)

พวกเราวางแผนเดินทางลงใต้ ไปกรานาดาโดยทางรถไฟที่เรียกว่า เทรนโฮเตล ซึ่งปรากฏว่าต่างจากภาพที่เราจินตนาการเอาไว้ม้าก มาก ด้วยความที่ค่าโดยสารเรนเฟแพ้ง แพง เราก็เลยจิตนาการเอาไว้ซะหรูหราว่า คงจะต้องเป็นเตียงนอนให้เราเหยียดยืดได้สบายอุราแน่ๆ ที่ไหนได้มันก็ไม่ต่างจากรถไฟสปรินเตอร์สักเท่าไร เคราะห์ดีเป็นสาวเอเชียขาสั้นกันทั้ง 2 ราย ก็เลยนั่งสบายๆ ลงใต้จากบาร์เซโลนาสู่กรานาดา

ที่น่าทรมานยิ่งกว่าการนั่งรถไฟตลอดคืนจนเมื่อยตูด ก็คือ สาวฝรั่งและสาวสเปนที่เมาท์ไม่หยุด ตั้งแต่เวลา 3 ทุ่มที่เราขึ้นรถไฟ กระทั่งเรื่อยเลยไป หลับแล้ว กรนแล้ว รถจอดสถานีใหญ่อีกทีที่บาเลนเซีย เวลาประมาณตี 2 she เพิ่งเดินขึ้นรถไฟมาสดๆ พร้อมโทรศัพท์มือถือประดับที่หู and then เมาท์ๆๆๆๆๆๆ โห... ตี 2 แล้ว ปลายสายมันยังไม่นอนอีกรึนั่น

ถึงยังไงก็ยังหลับลง อิอิ ตื่นมาอีกทีตอนเช้าตรู่ ทิวทัศน์ก่อนเข้าสู่เมืองกรานาดาสวยมากๆ เป็นเนินเขาที่ประดับด้วยทุ่งหญ้าเขียวเป็นหย่อมๆ แถมมีดอกหญ้าสีเหลืองเล็กๆ ปกคลุมอยู่ งดงามมากๆ (มัวแต่เมาขี้ตาเลยไม่ได้ถ่ายรูป) 555

และแล้วเราก็มาถึง กรานาดา อันเป็นที่ตั้งของ อะลัห์มบรา (Alhambra) พระราชวังแขกมัวร์สีแดง ที่ตอนนี้อยู่ในฐานะมรดกโลกของยูเนสโก (ใกล้จะเป็นญาติกับปราสาทพระวิหารรอมร่อ อิอิ)

ด้วยความที่โอ๊สตาลที่พักไม่ได้บอกอะไรไว้เลย นอกจากบอกว่า อยู่กลางเมือง ยังไงก็หาเจอ ลงโรงแรมรถไฟมาปุ๊บ เราก็แล่นเข้าไปยังเคาน์เตอร์ที่เขียนมา informacion ปั๊บ เพื่อถามทาง ยัยป้าหน้าเคาน์เตอร์ทำท่ายักไหล่หาใส่ใจในคนตัวเหลือง แล้วพ่นภาษาสเปนใส่ ฟังไม่รู้เรื่องแต่พอจะเดาออกว่า "ตูจะไปรู้ได้ไง ชั้นให้ข้อมูลเกี่ยวกับรถไฟเท่านั้นย่ะ!" เซ็ง!

จำได้ว่า ไปถึงเวลาเช้าตรู่ ราวๆ 8 โมงเช้า ชาวสเปนน่ะหรือจะแหกขี้ตาตื่นขึ้นมาไหว เดินคลำทางไปมา เจอคุณลุงท่าทางใจดีเดินมาซื้อหนังสือพิมพ์ยามเช้า เพื่อนสาวผู้รู้ภาษาสเปนนิดหน่อยต้องควักความรู้ออกมาใช้ล่ะคราวนี้ ขณะดิฉันผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ฟังอยู่ข้างๆ กาเย่ๆๆๆๆ -- เอ มันเกี่ยวอะไรกับ cahier (กาเย่ร์) ภาษาฝร่ังเศสที่แปลว่า สมุดจด (ข่าว) เล่านี่

อ้อ เขาหมายถึง กาเย่ (calle) ภาษาสเปนที่แปลว่าถนนตะหากเล่า

โอวววว์ คอมมิวนิเคชั่นเบรกดาวน์อีกแล้ว

(to be continued)

ตอนหน้าอย่าพลาดเรื่องคุณลุงรูปหล่อใจดี ประจำโอ๊สตาล อัลคาซาบาร์

วันพุธที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2551

เที่ยวไป กินไป (ไม่ได้บ่น) ในสเปน




ชูชกทัวร์เริ่มต้นอีกครั้ง... แทนที่จะศึกษาว่า เดินทางไปประเทศนี้ควรจะไปเที่ยวที่ไหนบ้าง สิ่งแรกที่ตั้งคำถามเอาไว้คือ จะไปกินอะไรดีหนอ?

อาหารสเปน บ้านๆที่ใครๆ บอกว่า ไปแล้วต้องกิน คือ ปาเอลย่า ทาปาส ซางเกรีย ... แน่นอน ทั้งหมดคือเป้าหมายของเราในคราวนี้

เท่าที่เคยได้ยินมา อาหารสเปนคือหนึ่งในกลุ่มอาหารเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเน้นหนักไปที่การบริโภคน้ำมันมะกอก และอาหารทะเลเป็นหลัก

**ปาเอลย่า ข้าวผัดสเปน

หลายคนที่เคยไปสเปนมาแล้ว บอกว่า ข้าวผัดสเปนไม่อร่อย แถมมันมากๆ ของอย่างนี้ พูดแต่ปากใครจะไปเชื่อ ต้องลองเอง...

บนท้องถนนในย่านท่องเที่ยว ภาพโฆษณาเชิญชวนหม่ำ ปาเอลย่า (paella) ติดอยู่ตามหน้าร้านอาหารแทบทุกแห่ง สีสันหน้าตาของเจ้าข้าวผัดสเปนนี้ ยั่วน้ำลายไม่ใช่เล่น กุ้งเป็นกุ้ง หอยเป็นหอย น่องไก่เป็นน่องๆ หมายถึงชิ้นเบ้งๆ ทั้งนั้น

ที่น่าตื่นเต้นก็คือ อาหารที่สั่งมา หน้าตาเหมือนภาพในโฆษณาเพะ !

ปาเอลย่า เป็นอาหารพื้นเมืองของชาวบาเลนเซีย ในภาษาสเปนหมายถึง กระทะผัด มิน่าเล่า อาหารจานนี้จึงเสิร์ฟมาในกระทะร้อน

ข้าวผัดสเปนมักจะมีส่วนผสมครบถ้วนทั้งผักทั้งเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะ เนื้อสัตว์ทะเล เป็นที่นิยมมาก โดยส่วนผสม 3 อย่างที่หากขาดไปจะเรียกปาเอลย่าไม่ได้ คือ ข้าว หญ้าฝรั่น (แซฟฟรอน) และน้ำมันมะกอก ทำให้บางครั้งก็เรียกอาหารจานนี้ว่า ข้าวผัดแซฟฟรอน

สำหรับต้นกำเนิดของเจ้าข้าวปาเอลย่ามีหลายที่มา บ้างว่า เป็นมรดกตกทอดตั้งแต่ครั้งแขกมัวร์มีอำนาจในสเปน อีกแหล่งหนึ่งก็บอกว่า จานนี้น่าจะเดินทางมาจากทางใต้ของฝรั่งเศส ส่วนอีกกระแส คือ ปาเอลย่า ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากประเทศกรีซนู่น

จะอย่างไรก็ตาม ปาเอลย่า หมายถึง ข้าวผัดที่ปรุงขึ้นในกระทะปาเอลย่า เริ่มด้วยการอุ่นกระทะร้อน ใส่น้ำมันมะกอกเล็กน้อย โยนเนื้อสัตว์ ตามด้วยผัก พอผัดจนใกล้สุกแล้วเติมน้ำ พอใส่ข้าวลงไปรอให้สุก โดยมีขั้นตอนสำคัญคือการเพิ่มกลิ่นรสด้วยหญ้าฝรั่นและซอสโซฟริโต (อันเป็นส่วนผสมกระเทียม หอม พริกไทย และมะเขือเทศ) เสิร์ฟพร้อมมะนาวซีกกันเลี่ยน

ปาเอลย่ามีมากมายหลายหน้าตาให้เลือก ตั้งแต่กุ้ง หอย (แมลงภู่) ทะเลรวม น่องไก่ และหมึกดำ

ใจจริงแล้วอยากรับประทานปาเอลย่าหมึกดำ แต่เนื่องจากหน้าตาอาจจะไม่งดงามยามถ่ายรูป จึงสั่งปาเอลย่าน่องไก่ เรื่องกินนี่รสนิยมใครรสนิยมมันจริงๆ ใครว่า ไม่อร่อย และมันแผล็บ จริงๆ แล้ว ก็พอใช้ได้นะ ยิ่งจินตนาการว่ากินแบบพี่ไทยด้วยการซอยพริกขี้หนูใส่ลงไปได้ จะเพอร์เฟ็กต์ ได้รสเค็มๆ มันๆ (เผ็ดๆ)

ที่มันๆ นั้นเป็นน้ำมันมะกอก ซึ่งจัดอยู่ใน ไขมันดีเพราะฉะนั้นจึงโอเคที่จะกิน (นะ)

**ตะลอนชิมทาปาส

ทาปาส (Tapas) เป็นอาหารเรียกน้ำย่อยที่มีทั้งแบบร้อนและเย็น สร้างสรรค์ได้หลายรูปแบบ

ทาปาสมีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ถึงจะโด่งดังในฐานะเป็นอาหารเรียกน้ำย่อย แต่บางครั้งก็ปรุงแบบให้กินจริงจัง กินถึงอิ่ม

ทาปาส มีสัญชาติสเปนตั้งแต่อ้อนแต่ออก มาจากคำว่า ทาปา (Tapa) เนื่องจากมักไม่ปรุงชนิดเดียว จึงต้องเติม s เข้าไปตลอดเวลา ในภาษาสเปนหมายถึง ปกปิด คลุมเอาไว้ ลักษณะของอาหารจานนี้ จึงมักนำเอาเนื้อสัตว์ (มีทั้งแฮม ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ชีส มะกอก พริกยักษ์ ฯลฯ มาคลุมเอาไว้ด้านบนแผ่นขนมปัง ตามแต่เชฟจะรังสรรค์

จานเรียกน้ำย่อยนี้มีมาแต่สมัยกษัตริย์อัลฟอนโซ เดอะ ไวส์ (ที่ 12) ผู้ทรงฟื้นจากอาการป่วยด้วยการเสวยไวน์ พร้อมพระกระยาหารจานเล็กๆ หลังจากนั้น พระองค์ก็รับสั่งให้เสิร์ฟพระราชอาคันตุกะด้วยไวน์และทาปาสทุกครั้ง ซึ่งนับเป็นเมนูที่คงกระพันมากว่า 700 ปีแล้ว แม้สเปนจะถูกรุกรานและยึดครองโดยโรมัน แขกมัวร์ ชาวยิว หรือจอมเผด็จการฟาสซิสต์ ฯลฯ แต่ทาปาสยังคงอยู่อมตะนิรันดร์

คนสเปนนอกดึกตื่นสาย ที่นั่นมักเสิร์ฟอาหารค่ำกันดึกมากๆ เริ่มตั้งแต่ 3 ทุ่ม ไปจนเกือบเที่ยงคืน ระหว่างนั้น พระเอกของงานได้แก่ ทาปาส ที่คนจะเริ่มกินกันตั้งแต่บ่าย 2 ถึง 4 โมงเย็น (เรียกว่าช่วงเฟียสตา ที่ร้านค้า พิพิธภัณฑ์ กิจการต่างๆ ปิดเงียบเพื่อพักผ่อน นอน และกิน)

วัฒนธรรมทาปาสของสเปนไม่ต่างจากอารมณ์ บาร์ฮอปปิ้งนั่นคือ เข้าร้านนั้น ออกร้านนี้ ไปร้านนู้น เน้นเรื่องพบปะ พูดคุย เมาท์แตกกันมากกว่ามุ่งมั่นจะไปชิมอาหารอร่อย

อย่างนั้นหละ... จึงเรียกว่า ทาปาสทัวร์แบบสเปนแท้

**จิบซางเกรีย เชียร์ฟลาเมงโก

ฝากชิมซางเกรียเผื่อด้วยนะนักดื่มแถวๆ นี้สำทับหนักแน่นก่อนเดินทาง แต่กว่าจะหาสถานที่เหมาะๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ได้ ก็นึกว่าจะอดชิมเสียแล้ว

อธิบายง่ายๆ ซางเกรีย (Sangria) ก็คือพันช์ไวน์ ซึ่งมีเสิร์ฟในสเปนและโปรตุเกส

นาม ซางเกรีย แผงมาจากคำว่า ซางเกร (sangre) ในภาษาสเปน และซางเก (sangue) ในภาษาโปรตุเกส แปลว่า เลือด ในหนึ่งแก้ว ประกอบด้วย ไวน์แดง ผลไม้ชิ้นเล็กๆ สิ่งให้ความหวาน (มักใช้ น้ำส้มหรือน้ำผึ้ง) เติมบรั่นดีหรือเหล้าอย่างอื่นเล็กน้อย ตบท้ายด้วยโซดา

ด้วยความที่ไม่มีการกำหนดตายตัวว่า จะต้องใช้ผลไม้ชนิดไหน เติมเหล้าชนิดใด จึงกลายเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของซางเกรีย ที่แต่ละแห่งจะมีรสชาติแตกต่าง ควรจะได้ลิ้มลองหลายๆ แห่ง เพื่อเปรียบเทียบว่า ใครจะปรุงพันช์ไวน์ได้เจ๋งกว่ากัน

แม้ซางเกรียจะมีรากว่าจากคำว่า เลือด ซึ่งมักอ้างอิงไปถึงสีแดงและไวน์แดงด้วย แต่บางครั้งคนปรุงก็นึกสนุกในการลองเลือกไวน์ขาวมาใช้แทน โดยเรียกว่า ซางเกรีย บลันกา (Sangria Blanca) หรือซางเกรียขาวนั่นเอง

ในการผสมซางเกรีย มักเริ่มจากการเตรียมผลไม้ที่จะใช้เป็นส่วนผสมก่อน โดยหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ค่อยเติมส่วนผสมทุกสิ่งอย่างลงไป ยกเว้นน้ำแข็งกับโซดา นำส่วนผสมนั้นไปแช่ตู้เย็นทิ้งเอาไว้ เพื่อให้รสชาติแต่ละอย่างผสมกลมกลืนกันได้ดียิ่งขึ้น กระทั่งจะเสิร์ฟค่อยเติมน้ำแข็งและโซดาลงไป

ซางเกรียเหมาะมากจะเสิร์ฟในวันร้อนๆ เช่นเดียวกับพันช์ทั่วไปนั่นแหละ โดยเฉพาะเมืองทางตอนใต้ของสเปน อย่าง แคว้นอันดาลูเซีย

แสดงว่า เราเลือกสถานที่เหมาะสมถูกกติกา ที่ไปดื่มไป ชมเชียร์ฟลาเมงโกไป ในเมืองหลวงของอันดาลูกเซีย อย่าง เซบีญ่า พอดิบพอดี

สเปนยังมีอาหารอร่อยๆ สำหรับการชูชกทัวร์อีกมาก ไม่ว่าจะเป็น พิซซ่ารูปร่างสี่เหลี่ยมขนาดย่อม ซึ่งนิยมเสิร์ฟเป็นอาหารเช้า ช็อกโกแลตดีไซน์น่ารักน่าหม่ำมีขายในตลาดสด และคอเบียร์ไม่น่าพลาด เบียร์อะลัมบรา (ชื่อเดียวกับมรดกโลกในกรานาดา) ที่ผลิตกันมาเกือบร้อยปี รสชาติไม่แพ้เบียร์เยอรมัน ฯลฯ

ขึ้นอยู่กับว่า พื้นที่ในกระเพาะของคุณมีพอหรือเปล่า?