วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ซาปา เวียดนาม สวรรค์ของชาวแบ็กแพ็ก

จุดหมายปลายทางสำคัญที่นักท่องเที่ยวแนวแบ็กแพ็กต้องไป เมืองซาปา ยอดเขาที่เต็มไปด้วยผืนนาขั้นบันได อยู่ในอำเภอลาวไค (Laocai) ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ติดชายแดนประเทศจีน
ซาปา เป็นเมืองหน้าด่านของจังหวัดลาวไค 

ก่อนหน้านี้ไม่มี ใครรู้ว่าคนกลุ่มไหนอาศัยอยู่ ทว่า ราวศตวรรษที่ 15 ชาวเขาเผ่าต่างๆ ตั้งแต่ม้ง เย้า เฝอลู่ ฯลฯ เข้ามาจับจองพื้นที่ กระทั่งศตวรรษที่ 19 เริ่มมีบาทหลวงและกองทัพฝรั่งเศสเข้ามาทางตอนใต้ของประเทศจีน และรุกล้ำเข้ามาบริเวณตอนเหนือของเวียดนามแห่งนี้ เมื่อขึ้นมาเจอกับอากาศและธรรมชาติของ ซาปา ชาวฝรั่งเศสเห็นว่าน่าจะเหมาะสำหรับการเป็นสถานที่พักฟื้นสำหรับคนป่วย โดยเริ่มมีการสร้างวิลล่าสำหรับเศรษฐีที่เข้ามาจับจองพื้นที่กันอย่างถาวร

สงครามโลกครั้งที่ 2 ของที่นี่ดูยาวนาน หลังจากที่ยุโรปจบสิ้นในปี 1945 ที่นี่ลากยาวไปถึง 1954 (สงครามอินโดจีน 1) วิลล่าหรูถูกทำลายโดยเวียดมินห์ ฝรั่งเศสแพ้ม้วนเสื่อกลับบ้าน คนท้องถิ่นเองก็ไม่มีใครอยู่ได้ เมืองซาปาหลับไหลไปในสงครามอินโดจีนอีก 2 ครั้ง (กับสหรัฐ 1950-1975 และจีน 1979) ก่อนจะเปิดตัวเพื่อการท่องเที่ยวเมื่อปี 1993

จุดดึงดูดของซาปา นอกจากทิวทัศน์ของขุนเขาอันงดงาม เต็มไปด้วยผืนนาขั้นบันไดแล้ว ด้วยอากาศที่เย็นสบายตลอดทั้งปี ถ้ามาช่วงฤดูหนาวอาจโชคดีได้เจอหิมะตกทั้งที่ใกล้เมืองไทยแค่นี้ ว่ากันว่า ถ้าจะให้ดีควรมาเที่ยวในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. เพราะอากาศกำลังเหมาะ ไม่หนาวเกินไป แถมยังจะได้เห็นนาขั้นบันไดเป็นสีทองเหลืองอร่ามไปทั่ว เพราะว่าข้าวกำลังออกรวง

เรียกว่า หากใครยังไม่เคยไปก็ควรไปลองสัมผัสประสบการณ์ทั้งสองบรรยากาศ คือ หน้าหนาวที่วันหนึ่งมีประมาณ 4 ฤดูเห็นจะได้ เดี๋ยวฟ้าใส เดี๋ยวหมอกลง เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวฝนตก ขณะที่เมื่อเข้าฤดูร้อนอาจจะเหลือสัก 3 ฤดู ทั้งได้ชื่นชมนาข้าวสีทองเป็นของแถม

เตรียมตัวเดินทาง

การเดินทางไปซาปาไม่ยาก เริ่มจากจองตั๋วเครื่องบินไปลงที่กรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม ซึ่งมีทั้งสายการบินโลว์คอสต์อย่าง แอร์เอเชีย เจ็ตสตาร์แอร์เวย์ส แต่ลองเช็กดูในเว็บอย่าง expedia.co.th ดู อาจได้บินกับสายการบินระดับ 5 ดาว ในราคาพอๆ กับโลว์คอสต์ เช่น กาตาร์แอร์เวย์ส หรือแอร์ฟรานซ์ ก็มีราคาดีเป็นช่วงๆ (จองล่วงหน้านานๆ ย่อมถูกกว่า

ทิปส์ในการจองตั๋วเครื่องบินที่หลายคนอาจรู้แล้ว แต่บอกเอาไว้อีกหน่อยคือ พอเช็กราคาจากเว็บไซต์ที่ให้บริการรวบรวม cheap flights อย่างเช่น expedia.co.th, skyscanner.net, th.edreams.com, cheapflights.com ฯลฯ แล้วอย่าลืมเข้าไปเช็กใน official เว็บไซต์ของสายการบินที่เราเลือกจะจองด้วย อาจได้ราคาถูกกว่า

หลังจองตั๋วเครื่องบิน ก็ต้องจองตั๋วรถไฟไปพร้อมกันด้วย ที่ www.hanoisapatrain.com แล้วก็เลือกรถไฟแบบที่ใช่ เวลาที่ถนัด (เช่นเดินทางสามทุ่มถึงหกโมงเช้า หรือเดินทางสองทุ่มถึงตีห้า อะไรทำนองนี้) ในราคาที่ชอบได้เลย (ควรจองล่วงหน้า เดี๋ยวเต็มนะจะบอกให้) ตั๋วปกติแต่ละห้องจะมีเตียง 2 ชั้นที่นอนได้ 4 คน ถ้าไปเที่ยว 4 คนก็ลงตัวแต่ถ้าน้อยหรือเกินกว่านี้ก็ต้องแชร์ห้องนอนบนรถไฟร่วมกับคนอื่น ขณะที่ตั๋ววีไอพี ห้องหนึ่งมีแค่ 2 เตียง แต่ราคาก็แพงเป็นเท่าตัว ชื่นชอบแบบไหน มีทุนทรัพย์ประมาณใด เลือกตามใจได้เลย

มาถึงเรื่องที่พัก จะจองไปล่วงหน้าก็สะดวกดีจะได้ไม่ต้องเดินหา เพราะภูมิประเทศของซาปาเป็นภูเขา
อาจต้องปีนบันไดกันจนประชุมอาเจี้ยนทีเดียว (อิอิ) ถ้าใครชอบวิวที่สูงสวยๆ แนะนำให้จองโรงแรมบนถนน Hoang Dieuซึ่งจะต้องปีนบันไดแคบๆ ขึ้นไปนิดนึง แต่ว่าถ้าได้เข้าพักก็คุ้มค่ากับวิวของเมืองซาปา แถวๆ นี้ก็มีโรงแรม Sapa Elite Hotel, Sapa Panorama Hotel, Fansipan Mountain View ฯลฯ

ใครชื่นชอบการเข้าพักในเมืองใกล้ๆ ย่านอาหารการกิน ที่เที่ยว และแหล่งช็อปปิ้ง ต้องไปพักแถวถนน Cau May กับถนน Fansipan แถวนี้โรงแรมมากมายนับไม่ถ้วนเลยล่ะ

คนไทยมักชอบไปพักกันที่ Sapa Summit Hotel ราคาไม่แพง วิวสวยทีเดียวล่ะแถวนั้น ติดว่ามันอออกจะเก่าไปหน่อย ลองหาใกล้ๆ กัน เห็นมีสร้างใหม่หลายแห่งทีเดียว

ไปกันเลยดีกว่า

มีตั๋วเครื่องบิน ตั๋วรถไฟ ที่พักก็จองแล้วจะช้าอยู่ไย หลังแลนดิ้งที่เมืองฮานอยแล้ว ถ้านั่งแท็กซี่เข้าเมืองราคาจะประมาณ 20-30 เหรียญสหรัฐ แต่นักเดินทางประหยัดๆ ออกจากสนามบินแล้วเลี้ยวขวาไปนั่งรถเมล์ (คนละ 5,000 ด่อง ประมาณ 8 บาท) หรือรถตู้ (คนละ 2 เหรียญสหรัฐ) รถจะไปจอดแถวๆ ย่านทะเลสาบฮว่านเกี๋ยม ซึ่งสำหรับคนที่ต้องไปจ่ายค่ารถไฟ (ที่จองในเว็บเก็บไปเฉพาะค่ามัดจำ) ออฟฟิศของบริษัทขายตั๋วก็อยู่แถวๆ บริเวณนี้แหละ

สำหรับคนต้องการจะซื้อซิมโทรศัพท์ เข้าไปซื้อร้านในเมืองจะถูกกว่า บอกว่าใช้สำหรับอินเทอร์เน็ตอย่างเดียวสัก 1 แสนด่อง (150 กว่าบาท) ก็อยู่ได้ 5 วันในเวียดนามแบบชิลๆ เพราะส่วนใหญ่ร้านอาหารและโรงแรมจะมีบริการไว-ไฟให้อยู่แล้ว

ระหว่างรอรถไฟตอนดึก หลายคนมักจะไปเปิดโรงแรมเพื่อนอนพักผ่อน และอาบน้ำก่อนไปนอนบนรถไฟ แต่ต้องดูเวลา ถ้าบินไปถึงก่อนเที่ยงก็อาจจะคุ้ม แต่ถ้าไปถึงช่วงบ่ายก็ไปนั่งชิลตามร้านกาแฟเก๋ๆ ในโอลด์ควอเตอร์ของฮานอยรอเวลาก็ได้

ยังไงก็ไปถึงสถานีรถไฟก่อนเวลารถออกสักหนึ่งชั่วโมง บอกแท็กซี่ว่าไป กา ฮานอย (Ga Hanoi) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากในย่านตัวเมือง ค่ามิเตอร์ไม่เกิน 6 หมื่นด่อง (90 บาท) ถ้าเกินกว่านี้แสดงว่าโดนโกงแน่ๆ
ที่ รับตั๋วรถไฟจะอยู่ด้านนอกอาคารต้องเอาใบจองไปยื่นเพื่อแลกตั๋ว ถึงเวลาก็ขึ้นไปจับจองที่นั่งที่นอนได้เลย บนรถไฟมีที่ล้างหน้าแปรงฟัน มีห้องน้ำให้เข้าค่อนข้างสะดวกสบาย รีบเข้าก่อนใครจะได้ยังสะอาด (เราควบคุมคนอื่นไม่ได้อะนะ)

บนรถไฟอาจนอนไม่ค่อยหลับ ถึงแม้จะเป็นตู้นอนอย่างดี เพราะไม่ว่าจะเป็นตู้นอนไฮโซหรือโลโซของบริษัทไหนหากออกเวลาเดียวกันก็จะเป็นขบวนเดียวกันนั่นแหละ ต่อๆ กันไป มีโยก มีเบรกแบบไม่เกรงใจคนจะหลับจะนอนเล้ย แต่ก็พยายามนอนดูอาจจะหลับก็ได้ เพราะใช้เวลา 8-9 ชั่วโมงนู่นแน่ะกว่าจะถึง

รถไฟจะไปจอดที่ กา ลาวไค (Ga Laocai) ไม่ต้องกลัวหลง หรือกลัวไม่ตื่น เพราะเป็นสถานีปลายทางและเจ้าหน้าที่บนรถไฟจะมาเปิดไฟสว่างโร่ (พร้อมเคาะประตูตึงตัง) ตั้งแต่หนึ่งชั่วโมงก่อนจะถึงจุดหมายกันเลยทีเดียว

จากลาวไคจะต้องนั่งรถขึ้นเขาไปอีกราว 1 ชั่วโมง จึงจะถึงซาปา โรงแรมส่วนใหญ่จะให้จองรถมารับ ตกคนละ 5 หมื่นด่อง (70 กว่าบาท) แต่ถ้าเดินมาทางซ้ายของสถานีสักพัก จะมีรถเมล์สีเหลืองแดง ติดแอร์อย่างดีออกทุกๆ ชั่วโมง ค่ารถคนละ 2.8 หมื่นด่อง (40 กว่าบาท) นั่งขึ้นไปกับคนท้องถิ่นเลย สนุกดี
รถเมล์จะไปจอดบริเวณสวนสาธารณะกลางเมือง ซึ่งจะเดินทางไปยังโรงแรมที่พักแต่ละแห่งได้ไม่ไกลมากสะดวกสบายดี

ซาปาทัวร์

แต่ละโรงแรมจะมีบริการทัวร์ซึ่งเป็นโปรแกรมที่เหมือนกันทุกๆ แห่ง เพราะจะมารวมศูนย์อยู่ที่เอเยนต์ท้องถิ่นกลางเมือง

สำหรับคนที่ไปครั้งแรกแนะนำให้ลองซื้อทัวร์ชนิด 1 วัน เพื่อไปเดินชมวิถีชีวิตของชาวเขาซึ่งจะเดิน
ทั้งวันราว 10 กว่ากิโลเมตร แบบขึ้นเขาลงเขาให้เตรียมชุดทะมัดทะแมง และอย่าขนของหนักที่ไม่จำเป็นไป

ทัวร์แบบนี้จะมีไกด์ทัวร์เป็นชาวเขาแท้ๆ ที่จะมีเพื่อนชาวเขามาร่วมเดินไปพร้อมกับคณะทัวร์เต็มไปหมดระหว่างเดินเข้าหมู่บ้านชาวม้งดำ ลาวไช ตาวาน ฯลฯ ชาวเขาเหล่านี้อาจจะเด็ดดอกหญ้ามาถักร้อยเป็น
รูปหัวใจแจกให้ระหว่างเดินทาง พอไปถึงที่พักกินข้าวกลางวันมักจะนำของมาขาย ถ้าชอบก็ช่วยซื้อหน่อย ไม่ชอบไม่ซื้อก็ได้

ส่วนใหญ่ไกด์จะทำหน้าที่พาเราเดินไปให้ถูกทางเท่านั้น ไม่ได้มาอธิบายอะไรให้ซีเรียสวุ่นวาย แต่เปิดโอกาสให้เดินชมทัศนียภาพขุนเขาสวยๆ ชมความเป็นอยู่ของชาวเขาแต่ละเผ่ามากกว่า เพราะฉะนั้นก็คล้ายๆ เราไปเดินเที่ยวเอง สามารถถ่ายภาพสวยๆ ระหว่างทางได้ตามสะดวก

ใครชอบปีนเขาแบบฮาร์ดคอร์ มีทัวร์แบบค้างแรมหนึ่งคืน เพื่อไปปีนพิชิตยอดเขาฟานสิแพน (Fansipan)
ยอดเขาที่สูงที่สุดของประเทศเวียดนามด้วย ส่วนอีกทัวร์ที่น่าสนใจสำหรับคนที่ไปครั้งแรกก็คือ ไปเที่ยวตลาดบัคฮา (Bac Ha Market) ซึ่งเป็นตลาดเช้าวันอาทิตย์ที่ชาวเขา 7 เผ่าจะมารวมตัวกันขายของ

แม้หน้าตาจะไม่เหมือนที่จินตนาการไว้ ว่าจะต้องมีสาวๆ แต่งชุดชาวเขามาขายของแบบสีสันคัลเลอร์ฟูล
เต็มตลาด แต่เหมือนตลาดธรรมดาๆ นั่นแหละแต่ใครชอบช็อปปิ้งสินค้าพื้นเมืองก็ซื้อได้ที่นี่ราคาต่อรองได้ ถ้าต่อแล้วไม่ให้ก็เดินหนีเดี๋ยวก็ตามมาลดให้เอง

ในตลาดยังมีของบ้านๆ ที่ทั้งน่ากินและน่ากลัว เช่นว่า ซาลาเปา ข้าวเกรียบปากหม้อ เหล้าดองงู และอีกมาก 

ข้อควรระวัง ถ้าอยากจะลองนั่งจิบกาแฟในตลาด เห็นแม่ค้าหน้าใสๆ ก็อย่าไปเชื่อใจเขาจะเทอะไรมาให้อย่าไปรับเพราะทุกสิ่งคือเงิน กาแฟต้องสั่งว่าจะซื้อขนาดไหน ราคาเท่าไหร่ ไม่งั้นน้องหนูจะชงขนาดใหญ่สุด พร้อมเทสแน็กแกล้มกาแฟให้พร้อม พอเช็กบิลออกมา อู้หู...แพงกว่าราคาในโรงแรมหรูของซาปาเสียอีกแน่ะ (พูดแล้วยังเคืองไม่หาย โดนชาวเขาหลอก)

หลังอาหารกลางวันที่ตลาด ทัวร์จะพาไปดูหมู่บ้านม้ง อันนี้น่าสนใจที่พาเข้าไปเดินดูถึงในบ้านที่เก็บอาหาร ห้องครัว ห้องต้มเหล้า ฯลฯ แบบทะลุปรุโปร่ง ก่อนจะพาไปเที่ยวแถวๆ ชายแดนที่ติดกับประเทศจีน แล้วก็ได้เวลากลับเข้าเมืองซาปา

คนที่มาแล้วหลายครั้ง เที่ยวทัวร์ซาปามาแล้วหลายทัวร์ แค่เดินทอดน่องไปเรื่อยๆ แถวถนนฟานสิแพน หรือถามเขาก็ได้ว่า กั๊ตกั๊ตวิลเลจ (Cat Cat Village) ไปทางไหน นั่นแหละสุดยอดแห่งพาโนรามาวิว
มาที่นี่ต้อง เดิน เดิน และเดิน หรือชื่นชอบการขี่จักรยาน บิดมอเตอร์ไซค์ ก็เป็นอีกรูปแบบการเที่ยวที่นิยมเช่นเดียวกัน

ระหว่างทางไปกั๊ตกั๊ตวิลเลจ มีทั้งร้านค้าให้ช็อปสินค้าชาวเขาแบบแฮนด์เมด ร้านอาหารแบบเพิง ไปจนถึงอาหารหรูหรา ร้านกาแฟริมเขา ฯลฯ เดินเหนื่อยก็พักจิบกาแฟและชิมขนม ค่อยเดินชมทัศนียภาพต่อ ท่ามกลางบรรยากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี (หนาวนิดหน่อยตอนปลายปีต่อต้นปี)


นี่แหละเรียบๆ ง่ายๆ แบบซาปาที่มาแล้วก็อยากมาอีกบ่อยๆ 

ไม่มีความคิดเห็น: